เจอแล้ว"ซีเซียม-137”โผล่โรงหลอมเหล็กใหญ่ที่สุดในปราจีนบุรี ปะปนอยู่ในเศษเหล็กอัดแท่ง สั่งปิดทันที


20 มี.ค. 2566, 12:09

เจอแล้ว"ซีเซียม-137”โผล่โรงหลอมเหล็กใหญ่ที่สุดในปราจีนบุรี ปะปนอยู่ในเศษเหล็กอัดแท่ง สั่งปิดทันที




วันที่ 20 มีนาคม 2566 กรณี สารซีเซียม-137 (Cs-137) ที่ใช้กับเครื่องเลเซอร์เพื่อจับฝุ่นขี้เถ้าในโรงงานผลิตไฟฟ้าไอน้ำ พื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี หายไปจากพื้นที่ โดยเบื้องต้นทราบว่า ตัวเก็บสารดังกล่าวหลุดออกมาจากจุดติดตั้ง เพราะใช้งานมานาน เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า อาจมีชาวบ้านหรือคนเก็บของเก่ามาเจอคิดว่าเป็นเศษเหล็กจึงเก็บเอาไปขาย โดยไม่ทราบว่าวัตถุดังกล่าวเป็นสารอันตรายต่อสุขภาพ จนเกิดการวิตกกังวลงชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ รวมถึงความกังวลถึงอันตรายของชาวเน็ตที่ทราบข่าว กระทั่งมีการตั้งรางวัลให้ผู้แจ้งเบาะแสตามที่ได้เสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางจังหวัดปราจีนบุรี มีประกาศปิดโรงงาน หลอมเหล็กในเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี ของ บริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี พร้อมกันพื้นที่ไม่ให้พนักงานทั้งหมดเข้า-ออกจากโรงงาน เพื่อความปลอดภัย ภายหลัง นายรณรงค์ นครจินดา ผวจ.ปราจีนบุรี และ นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ลงพื้นที่ออกตรวจการปฎิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี , สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี , กรมการปกครอง ออกตรวจการปฏิบัติงานในเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี โดยตรวจโรงหลอมเหล็ก 2 โรงหลอมใหญ่ในจังหวัด

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบเป็นโรงงานหลอมเหล็กที่ใหญ่ที่สุด มีเตาหลอม 8 เตา ในแต่ละวัน มีรถบรรทุกเศษเหล็กและเหล็กที่หลอมแล้ว เข้า-ออกเป็นจำนวนมาก จึงคาดว่าอาจจะเป็นจุด ซีเซียม 137 อาจ ถูกขายเป็นของเก่าปนมากับเหล็กที่จะเข้ามาทำการหลอมได้ จึงใช้เครื่องมือของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เข้าตรวจวัดสแกนหารังสีตามกองเศษเหล็กที่ถูกบีบอัดเป็นแท่งรอเข้าเตาหลอม พบว่าบางจุดเครื่องตรวจวัดจับสารบางอย่างได้แต่ไม่ระบุชนิด จึงประสานเจ้าหน้าที่พลังงานปรมาณูเพื่อสันติเข้าตรวจสอบอย่างละเอียด ยืนยันว่าเป็นสารกัมมันตรังสีซีเซียม 137 สภาพถูกบีบอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม กองซ้อนกันเป็นชั้นสูง เตรียมหลอมตามรอบช่วงเย็น จึงประกาศปิดโรงหลอมดังกล่าว

ทั้งนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบรายละเอียดเส้นทางของสารกัมมันตรังสีซีเซียม 137 อย่างละเอียดอีกครั้งว่ามาจากที่ไหน เพื่อระวังป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากสารกัมมันตรังสีดังกล่าว





คำที่เกี่ยวข้อง : #ซีเซียม-137  









©2018 CK News. All rights reserved.