ฉายา 10 "พระภิกษุสงฆ์" ปี 2565 เจ้าคุณประสาร ฉายา อธิการน้อย


26 ธ.ค. 2565, 12:22

ฉายา 10 "พระภิกษุสงฆ์" ปี 2565 เจ้าคุณประสาร ฉายา อธิการน้อย




ทางเว็บไซด์ thebuddh ตั้งฉายา "พระภิกษุสงฆ์" 2565 จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ซึ่งการตั้งฉายาให้กับพระภิกษุสงฆ์ ทาง thebuddh ระบุว่า ในฐานะสื่อมวลชนศาสนา การตั้งฉายาให้กับพระภิกษุสงฆ์ มิได้เกิดจากความไม่เคารพไม่นับถือ หรือ ไม่ศรัทธาหรือมีเจตนาล่วงละเมิดแต่ประการใดไม่ การตั้งฉายาของพระภิกษุในปีนี้ เน้น พระสงฆ์ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและเป็นที่กล่าวขานในสังคมชาวพุทธ ได้สร้างปรากฎใหม่แก่วงการชาวพุทธที่ควรยกย่อง โดยเน้นจากปรากฏการณ์ข่าวของพระภิกษุรูปนั่น ๆ ทั้งในสื่อหลัก สื่อออนไลน์ และคำบอกเล่าปากต่อปากจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ รวมทั้งสำรวจจากนักวิชาการชาวพุทธ คนเคยบวชเรียน โดยที่ทางเว็บไซด์ thebuddh ตั้งฉายาประจำปี 2565 มีจำนวน 10 รูป โดยเรียงจากพระภิกษุที่ถูกกล่าวขาน จากมากไปหาน้อย ดังต่อไปนี้

1. “ทุกขลาภ”

 


พระธรรมโพธิมงคล หรือ “พระมหาสมควร” เป็นพระรามัญชาวกระทุ่มมืด อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เป็นที่ภิกษุที่ขึ้นชื่อด้านปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ เคร่งครัดในพระวินัย ตามแบบฉบับของพระภิกษุชาวรามัญ ซ้ำพูด -เขียน ภาษารามัญได้เป็นอย่างดี
เดิมเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดนิมมานรดี บางแค กรุงเทพมหานคร หลังเกิดเหตุการณ์ “คดีเงินทอนวัด” จนมีพระเถระหลายรูปถูกจำคุก และเกิดเหตุการณ์คณะพระเถระวัดสระเกศที่ถูกจำคุกออกมาแล้วสวมใส่จีวร กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จนมหาเถรสมาคมมีมติว่า “แต่งกายเลียนแบบสงฆ์” มีการปลดรักษาการเจ้าอาวาส

แล้วโยก พระธรรมโพธิมงคล จากวัดนิมมานรดี มาอยู่วัดสระเกศ ฯ ท่ามกลางความไม่พอใจของพระภิกษุภายในวัดและศิษย์เก่าบางคนบางคณะ เมื่อ พระธรรมโพธิมงคล เข้ามาอยู่ใหม่ ๆ ต้องการเปลี่ยนสีจีวรจากเหลืองเป็น “สีราชนิยม” จนถูกคณะสงฆ์ภายในวัดคัดค้านเนื่องจากผิดจารีตประเพณีแบบอย่างของพระบุรพาจารย์ภายในวัด หลังจากนั้นพระธรรมโพธิมงคล ไปพูดในเขตภาค 2 ก็มีคนปล่อยคลิป จนเกิดกระแสทั่วสังฆมณฑล ล่าสุดมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในวัดก็มีประเด็นถูกกล่าวหาว่า “รื้อของเก่า” อันเป็นการผิดกฎหมายโบราณสถานและทั้งถูกกล่าวหาว่าไปทำลายประตูรั้วชื่อของ“พระสังฆราชอยู่” ด้วย จนสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มศิษย์เก่าบางคนออกมาฟ้องร้องอยู่จนทุกวันนี้

พระธรรมโพธิมงคล แม้จะอยูในวัดใหญ่กลางเมืองหลวง มีผลประโยชน์มากมาย แต่จะคิดจะทำอะไร “ไม่ราบรื่น” ติดขัดอยู่ร่ำไป ด้วยเหตุนี้ พระธรรมโพธิมงคล หรือ “พระมหาสมควร” จึงควรได้รับฉายาว่า “ทุกขลาภ”

 

2. อธิการ “น้อย”

พระราชวิชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” สังคมการเมืองจะคุ้นชื่อนี้ดี เพราะในอดีตถูกตราหน้าว่าเป็น “พระเสื้อแดง” ตอนหลังมีพระผู้ใหญ่ขอ “ห้ามยุ่งการเมือง” จึงทุ่มเทกับงานการศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในฐานะ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ด้วยความเป็นพระภิกษุที่มี “คอนเนคชัน” กับผู้คนหลากหลายวงการ มีบุคลิกภาพเป็นคนอัธยาศัยดี เข้าถึงง่าย เป็นพระภิกษุที่ “ใจถึงพึ่งได้” จึงมีเส้นสายและวิถีชีวิตที่เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในตำแหน่งหน้าที่การงานและสมณศักดิ์

 

หลังจาก พระธรรมวิชรบัณฑิต ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่ง “อธิการบดี” วาระที่ 2 ชื่อเสียงของ “เจ้าคุณประสาร” ในวงการ “มจร” ดังพลุแตกว่า เป็น “อธิการบดี” ตัวจริงเสียงจริง  สังเกตได้จากงานประสาทปริญญาประจำปี 2565 ที่ผ่านมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ “เจ้าคุณประสาร” คือ แม่งาน ทุกเรื่อง ซ้ำงานพระราชเพลิงศพโยมบิดาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ชาว “มจร” ตามวิทยาเขตสงฆ์ทั่วประเทศกว่า 40 จังหวัด มุ่งสู่งานพระราชทานเพลิงศพ ทั้งเวียนการเป็นเจ้าภาพ สลับจากเหนือ ใต้ อีสาน กลาง ไม่เว้นแต่ละวัน เส้นทางใน “มจร” ทุกคนมองว่า อนาคตอาจถึงดวงดาวเป้าหมาย “เบอร์หนึ่ง” ไม่ไกลเกินฝันแน่
ด้วยเหตุนี้ พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” จึงควรได้รับฉายาว่าอธิการ “น้อย”

 

3. แจ็คผู้ฆ่า “ยักษ์”

พระครูโสภณธรรมอุดม เจ้าคณะอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นเจ้าคณะปกครองรูปแรก ๆ ที่ประกาศลาออกจาก “เจ้าคณะอำเภอ” หลังมีบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้ง “พระครูเล็ก” หรือ พระครูสุทธิญาณโสภณ เจ้าคณะอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ให้ข้ามห้วยมาเป็น “เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์”
การแต่งตั้ง “พระครูเล็ก” และปลด “หลวงพ่อบัวศรี” พระเทพสารเมธี อดีตเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ หลังปรากฎคลิปสนทนาทำให้ชาวพุทธไทย “ตาสว่าง” ทั้งประเทศว่า ใครอยู่เบื้องลึก ใครอยู่เบื้องหลัง ใครอ้างใคร จนทำให้ “วงการคณะสงฆ์” ปั่นป่วนทั้งประเทศ ไม่เฉพาะ “สายวัดป่า” เท่านั้น “สายพระเมือง” ก็ไม่เว้น
พระครูโสภณธรรมอุดมนี่เองเป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” คัดค้านมติมหาเถรสมาคม และเปิดประเด็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ธรรมยุติจังหวัดกาฬสินธุ์ตลอดมา จนล่าสุด “พระครูเล็ก” ทำหนังสือลาออกจากเจ้าคณะจังหวัดยื่นต่อ “เจ้าคณะภาค 9” ฝ่ายธรรมยุตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ความหาญกล้าของ “พระครูโสภณธรรมอุดม” ที่ยึดพระวินัยเป็นที่ตั้ง ยึดกฎระเบียบคณะสงฆ์เป็นที่พึ่ง มีหาญกล้าสู้กับ “อำนาจลับ” ในมุมมืดเพื่อธำรงไว้ซึ่งพระธรรมวินัยของพระสัมมาพุทธเจ้า
ด้วยเหตุนี้ พระครูโสภณธรรมอุดม เจ้าคณะอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ จึงควรได้รับฉายาว่า “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์”

 

4. มังกรซ่อน “เล็บ”

พระภิกษุธงชัย สุขญาโณ หรือ “อดีตพระพรหมสิทธิ” เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าคณะภาค 10 เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ รองแม่กองธรรมสนามหลวง และกรรมการมหาเถรสมาคม ในอดีตถือว่าเป็น “ผู้มากบารมี” ทั้งในวงการคณะสงฆ์ นักการเมือง ทหาร ตำรวจ และสาธุชนทั่วไป


หลังอดีตพระพรหมสิทธิ ถูกกล่าวหา “คดีเงินทอนวัด” และถูกจับ “ติดคุก” ตอนหลังศาลให้ประกันตัว และบางคดี “ยกฟ้อง” ท่านและคณะกลับมาห่มจีวร นับตั้งแต่ประกอบพิธี “ห่มจีวร” ในพระอุโบสถวัดสระเกศ น้อยนักจะเห็นภาพ “อดีตพระพรหมสิทธิ” จะปรากฎตัวต่อสาธารณะ แม้กระทั้งตอนที่รัฐบาลแถลงข่าวเรื่องหนังสือ “ทศชาติ ปณิธานมหาบุรุษไม่เปลี่ยนแปลง” ฉบับ ญาณวชิระ และมีการจัดนิทรรศการตอนประชุมคณะรัฐมนตรี มีกลุ่มพระเถระวัดสระเกศที่ถูกกล่าวหา “คดีเงินทอน” เช่นเดียวกัน ไปปรากฏกาย ณ ศูนย์กลางอำนาจอย่าง “ทำเนียบรัฐบาล” แต่ไม่มี “พระภิกษุธงชัย” ปรากฏกายให้เห็น ทั้ง ๆ ที่ หากปรากฏกายที่ทำเนียบรัฐบาลคือการประทับตรา “ความปลอดภัย” ได้เป็นอย่างดียิ่งจากทั้งมติและข้อกล่าวหาทั้งจาก “มหาเถรสมาคม” และ “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” หรือ กลุ่มบุคคลอื่น ๆ


ล่าสุดพระภิกษุธงชัย สุขญาโณ หรือ “อดีตพระพรหมสิทธิ” มีภาพปรากฎเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี เผยแพร่ภาพออก “ข่าวพระราชสำนัก” ทุกช่องทุกสำนัก จนเป็นที่ “ฮือฮา” ให้กับคณะสงฆ์และชาวพุทธทั่วประเทศ ว่า “อดีตพระพรหมสิทธิ” สมเป็นผู้มากบารมี มีความอดทนอดกลั้นรอจนมั่นใจว่า “ปลอดภัย” อย่างแท้จริงจึงเลือกที่จะปรากฏกาย สมกับเป็นมังกร จะใช้ “เล็บ” ก็ต่อเมื่อเห็นว่า “จบเกม” แล้วเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุธงชัย สุขญาโณ หรือ “อดีตพระพรหมสิทธิ” จึงสมควรได้รับฉายาว่า “มังกรซ่อนเล็บ”

5. สนิมเขรอะ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการศูนย์ควบคุมการไปต่างประเทศสำหรับพระภิกษุสามเณร (ศตภ.) และเมื่อคราวสังคมเรียกร้องให้มีการปฎิรูปกิจการพระพุทธศาสนา มหาเถรสมาคมมอบให้ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายปกครอง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องกฎหมาย มติมหาเถรมหาเถรสมาคม กฎระเบียบ ที่ล้าหลัง รวมทั้งพฤติกรรมนอกรีตนอกรอยพระวินัยของพระภิกษุบางรูปด้วย


ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ “ผลงาน” ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายปกครอง ยังไม่มีอะไรที่ปรากฏเป็น “รูปธรรม” และแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของพระภิกษุนอกรีตนอกรอยได้ ทั้ง ๆ ที่สังคมชาวพุทธและคณะสงฆ์คาดหวังว่า..จะแก้กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม และกฎระเบียบที่ล้าหลังบ้างแต่ทุกอย่างเงียบ “สนิท” ปล่อยให้ปัญหาในสังคมพระสงฆ์กลายเป็น “ดินพอกหางหมู” กลายเป็น “สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ ในตน กินกัดเนื้อเหล็กจน กร่อนขร้ำ” ชาวพุทธได้แต่มองตาปริบ ๆ ในขณะที่ภาครัฐก็ปล่อยให้ “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” ไม่อยากเข้ามายุ่งกลัว “ซ้ำลอยแผล” คดีเงินทอนวัด
ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงสมควรได้รับฉายาว่า “สนิมเขรอะ”


6. พระสิ้นคิด

หลวงตาสินทรัพย์ จรณธมฺโม วัดป่าบ่อน้ำพระอินทร์ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี เป็น “ดาวติ๊กต็อก” เป็นดาวในโลกโซเซียล มีคนติดตามจำนวนมาก เนื่องจาก พูดตรงไป ตรงมา หัวเราะเสียงดัง สอนชาวพุทธให้เป็น “พุทธแท้” มากกว่า ไปพึ่ง “ลัทธิรอผลดลบันดาล” อำนาจนอกเหนือจาก “ธรรมะ”ของพุทธองค์หรือ “การกระทำ” ของตนเอง เช่น ไม่ให้เชื่อพญานาค,การขอลูกจากพุทธรูป,พฤติกรรมของพระภิกษุบางรูป,การตั้งชื่อวัด ซึ่งแนวคำสอนลักษณะนี้ “ถูกใจ” และ “ต้องใจ” ชาวพุทธจำนวนมากที่หลายปีมานี้เห็นพฤติกรรมและคำสอนของ “พระภิกษุ” บางรูปที่แปลกแนวและมีพฤติกรรมนอกพระวินัยเกี่ยวข้องกับ “พุทธพาณิชย์” หรือ “การตลาด” มุ่งแต่หาเงินสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองและบริวาร ซึ่งล้วนแต่เบื่อหน่าย แต่ทำอะไรไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ หลวงตาสินทรัพย์ จรณธมฺโม แม้จะเป็นพระสังฆาธิการธรรมดา แต่คำพูดของท่านล้วนมีอิทธิพลและคนติดตามจำนวนมาก จึงสมควรได้รับฉายาว่า “พระสิ้นคิด”

7. “นักบุญ” แห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

“หลวงพ่อแดง” หรือ พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ เจ้าอาวาสวัดอินทาราม จ.สมุทรสงคราม นอกจากเป็นพระเกจิแล้ว ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้บำเพ็ญตนเองเป็น “พระโพธิสัตว์” ด้วยการช่วยเหลือประชาชนทั่วไปที่ประสบทั้งการแพร่ระบาดของโควิด -19 น้ำท่วม,ไฟไหม้ สงเคราะห์โรงเรียน คนชรา โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย มุ่งบำเพ็ญตนเองสู่หนทางแห่งพุทธสาวกอย่างเข้มข้น
ด้วยเหตุนี้ “หลวงพ่อแดง” หรือ พระครูพิศิษฏ์ประชานาถ จึงสมควรได้รับฉายาว่า “นักบุญ” แห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง

 

8. เจ้าคุณ “โคก หนอง นา”

พระพิพัฒน์วชิโรภาส เจ้าอาวาสวัดวังอ้อ จังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานีที่มุ่งทำงานในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชนผู้ยากไร้ ประชาชนในชนบทให้ “พึ่งพาตนเอง” ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน จึงเปิด ศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ขึ้น เพื่ออบรมเด็กและเยาวชน ข้าราชการรวมทั้งประชาชนทั่วไปให้เห็นคุณค่า “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และหลัก “บวร”  พร้อมกันนี้เดินสายทั่วประเทศเพื่ออบรมประชาชนให้รู้จัก “พึ่งพาตนเอง” สร้างเครือข่ายช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามระบบเศรษฐกิจพอเพียง
จังหวัดอุบลราชธานีเป็น “เมืองหลวง” แห่ง โคก หนอง นา ส่วนหนึ่งเพราะมีพระพิพัฒน์วชิโรภาส เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนร่วมกับข้าราชการ ภาคประชาชนและวัดในพื้นที่อย่างเข้มข้นและมั่นคง
ด้วยเหตุนี้ พระพิพัฒน์วชิโรภาส จึงสมควรได้รับฉายาว่า “เจ้าคุณ” โคก หนอง นา

 

9. พระต้นแบบ “ธรรมะห่มดอย”

พระอรุณเมธี พุทธิภทฺโท แกนนำ “พระธรรมจาริก” แห่งวัดศรีโสดา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแกนนำพระภิกษุรูปหนึ่งที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กับชาวเขา ชนเผ่าชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาและประกาศตนเองเป็น “พุทธมามกะ” ในภาคเหนือได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง โดยไม่เห็นแก่ความทุกข์ยากลำบากทั้งในการเป็นอยู่และการบำเพ็ญสมณธรรมตามวิถีแห่งสมณเพศ อดทนทุกข์ยากให้หลักธรรมพระพุทธศาสนาปกคลุมดอย ใช้ธรรมะห่มดอย เพื่อความสันติสุขและผาสุกให้มนุษยชาติ เป็นภิกษุต้นแบบที่ดียิ่งให้พระสงฆ์รุ่นใหม่หรือผู้แสวงหนทางให้มนุษย์พ้นทุกข์ได้นำไปเป็นแบบอย่างในการทำหน้าที่ของพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา
ด้วยเหตุนี้ พระอรุณเมธี พุทธิภทฺโท จึงควรได้รับฉายาว่า พระต้นแบบ “ธรรมะห่มดอย”

 

10. “สมเด็จ” นอกทำเนียบ

สมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนใต้ และเจ้าอาวาสวัดกะพังสุรินทร์ จังหวัดตรัง มีนามเดิมว่า “สงัด ลิ่มไทย” เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 ปัจจุบันอายุ 94 ปี ได้รับโปรดเกล้า ฯ สมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เป็น “สมเด็จพระราชาคณะ” รูปแรกที่จำพรรษาอยู่วัดภาคใต้ ไม่เป็น “กรรมการมหาเถรสมาคม” ถือว่าเป็น “สมเด็จบ้านนอก” ไกลปืนเที่ยง ซึ่งในประวัติศาสตร์คณะสงฆ์ไทย มักไม่เคยเห็นปรากฎการณ์แบบนี้บ่อยนัก
การที่ “สมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์” ฝ่าด่านแบบผลิกโผได้รับโปรดเกล้า ฯ สมณศักดิ์เป็น “สมเด็จพระราชาคณะ” แม้จะไม่เหนือความคาดหมายของคน “วงใน” เท่าไร แต่สำหรับประชาชนทั่วไปเหนือความคาดหมายเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากท่านไม่ได้จำพรรษาอยู่ในเมืองหลวง ไม่มีตำแหน่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม กลายเป็น “สมเด็จนอกสายตา”
ด้วยเหตุนี้ “สมเด็จพระมหาวชิรมังคลาจารย์” จึงควรได้รับฉายาว่า “สมเด็จ” นอกทำเนียบ





คำที่เกี่ยวข้อง : #ฉายาพระ  









©2018 CK News. All rights reserved.