คืนนี้ ดาวอังคาร ตรงข้ามกับ ดวงอาทิตย์ - 14 ธ.ค ฝนดาวตกเจมินิดส์


8 ธ.ค. 2565, 18:22

คืนนี้ ดาวอังคาร ตรงข้ามกับ ดวงอาทิตย์ - 14 ธ.ค ฝนดาวตกเจมินิดส์




วันนี้ (8 ธ.ค.)  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) ชวนชมปรากฏการณ์ ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ในคืนนี้! 8 ธันวาคม 2565 ซึ่งดวงอาทิตย์ โลก และดาวอังคาร จะโคจรเรียงตัวอยู่ในเส้นเดียวกัน เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวอังคารจะปรากฏสว่างเด่นชัดทางทิศตะวันออก มองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นสีส้มแดง พร้อมกับดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏอยู่ข้างกัน สามารถชมความสวยงามได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า ในครั้งถัดไปที่ดาวอังคารจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์คือวันที่ 16 มกราคม 2568

นอกจากนั้น ในคืนวันที่ 14 ธันวาคมนี้ ชวนชม “ฝนดาวตกเจมินิดส์” พร้อมปักหมุด 3 จุดหลักชมดาวกับ NARIT  โดยระหว่างวันที่ 4-20 ธันวาคมของทุกปี เป็นช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ มีศูนย์กลางกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ สำหรับปีนี้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดในคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง คืนดังกล่าวกลุ่มดาวคนคู่จะปรากฏขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลาประมาณ 20:00 น. สามารถสังเกตได้จนถึงเวลาประมาณ 23:00 น. หลังช่วงเวลาดังกล่าวยังคงสามารถชมฝนดาวตกได้ แต่จะมีแสงจันทร์ข้างแรม 6 ค่ำรบกวน จึงไม่เหมาะกับการชมฝนดาวตก

ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านสายธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ที่หลงเหลือทิ้งไว้ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball

สำหรับผู้สนใจชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกควรเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ แนะนำให้นอนชม เนื่องจากฝนดาวตกกระจายทั่วท้องฟ้า ฝนดาวตกเจมินิดส์มีจุดเด่นคือ ความเร็วของดาวตกไม่มากนัก ประกอบกับมีอัตราตกค่อนข้างมากจึงสังเกตได้ง่าย สามารถมองเห็นได้รอบทิศ ถือเป็นโอกาสดีในการติดตามชมฝนดาวตก    

NARIT เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” คืนวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 17:00 - 23:00 น. เชิญชวนผู้สนใจร่วมชมฝนดาวตกเจมินิดส์ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 3 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ นครราชสีมา และฉะเชิงเทรา

ที่มา  js100 





คำที่เกี่ยวข้อง : #ดาว  









©2018 CK News. All rights reserved.