วันที่ 14 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวบ้านพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ดอยคำและเยาวชนจิตอาสาร่วมกันทำฝายชะลอน้ำ เพื่อขวางทางกั้นลำน้ำขนาดเล็กในบริเวณต้นน้ำ หรือพื้นที่ที่มีความลาดชันสูง เพื่อให้น้ำที่ไหลมาแรงสามารถที่จะชะลอการไหลช้าลง ณ บริเวณโรงงานหลวง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ภายใต้กิจกรรม “เยาวชนหัวใจทองคำ”
นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เปิดเผยว่าปัจจุบันการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีการส่งเสริม และปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นนักพัฒนาอาสาเพื่อสังคมของเยาวชนไทยให้มีความรับผิดชอบ มีความเสียสละและการมีจิตสาธารณะ โดยกำหนดไว้ในหลักสูตร ให้มีกิจกรรมเพื่อสังคม ส่งเสริมให้นักเรียนบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ชุมชนและท้องถิ่น ตามความสนใจในลักษณะของอาสาสมัคร
ดังนั้นทางดอยคำจึงจัดกิจกรรม “เยาวชนหัวใจดอยคำ” นำเยาวชนระดับมัธยมศึกษา ร่วมทำฝายดอยคำ ที่ฝายต้นน้ำชุมชนบ้านยาง อ.ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้ การทำกิจกรรมจิตอาสาดังกล่าว ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 รวมระยะเวลาดำเนินการกว่า 14 ปี สร้างฝายชะลอน้ำช่วยชาวบ้านไปแล้ว กว่า 1,500-2,000 ฝาย
โดยการทำฝายจะมีชาวบ้านในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ดอยคำเป็นกำลังหลัก ทำหน้าที่ปลูกฝังจิตอาสาให้กับเยาวชน ซึ่งแต่ละปีจะมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม ประมาณ 30 ราย สำหรับปีนี้มีนักเรียนเข้าร่วมทำฝายรวม 22 ราย แบ่งเป็นเยาวชนพื้นที่ 18 ราย จาก 5 โรงเรียนคือ โรงเรียนรัตนเอื้อวิทยา โรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์1 โรงเรียนฝางอุปถัมภ์ โรงเรียนรังษีวิทยา และโรงเรียนวิทยาลัยการอาชีพฝาง และเยาวชนจิตอาสา จากกรุงเทพฯ จำนวน 4 ราย โดยนักเรียนทุกคนจะได้เข้าร่วมกิจกรรมทำฝาย ทั้งนี้นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมอาสาจะได้รับหนังสือรับรองบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
สำหรับ “ฝายดอยคำ” เป็นฝายชะลอน้ำประเภทชั่วคราว จัดอยู่ในประเภทฝายแม้ว เป็นชื่อเรียกโครงการตามแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับวิศวกรรมแบบพื้นบ้าน เป็นฝายชะลอน้ำที่ทำจากไม้ไผ่ถูกออกแบบเพื่อให้มีความแข็งแรงคงทน และสามารถทำหน้าที่ชะลอน้ำได้ 1-2 ปี ซึ่งฝายตามแนวพระราชดำรินี้ จะมี 3 รูปแบบที่นิยมสร้างกันคือ ฝายไม้แนวเดียว ฝายคอกหมู และฝายดอยคำ
ฝายไม้แนวเดียว เป็นฝายที่ทำจากไม้ สร้างโดยการปักไม้เสาเป็นระยะ ๆ 0.30 – 0.50 เมตร นำไม้มาสอดเรียงในแนวนอน แล้วให้ยึดติดกัน จากนั้นใช้วัสดุที่มีน้ำหนักมาถมด้านหน้าตลอดแนวซึ่งอาจเป็นดินหรือหินก็ได้เพื่อให้เกิดความมั่นคง ส่วน ฝายคอกหมู เป็นฝายลักษณะเดียวกับฝายไม้แนวเดียว แต่จะทำการปักไม้เสาเป็นสองแนวห่างกัน เท่ากับความสูงของฝาย พร้อมมีการยึดแถวหน้ากับแถวหลังเข้าด้วยกัน ด้วยไม้ในแนวนอนที่ฝังปลายเข้าไปในตลิ่งทั้งสองด้าน แล้วนำวัสดุใส่ระหว่างกลางจะเป็น หิน ดิน หรือวัสดุอื่น ๆ ในพื้นที่ สุดท้ายที่ ทำกันอยู่เวลานี้คือ ฝายดอยคำ เป็นฝายที่ทำมาจากไม้ไผ่ ลักษระเหมือนฝายคอกหมู แต่มี 3 ชั้น ใช้ลำไม้ไผ่ตัดเป็นท่อนตอกลงดินเรียงเป็นแนวผนังขวางกับร่องน้ำโดยให้ผนังด้านข้างสูงกว่าตรงกลาง ปลูกหญ้าแฝกตรงคันดินด้านข้างระหว่างฝายแต่ละชั้น พื้นที่ตรงกลางฝายให้เป็นทางน้ำไหล หญ้าแฝกจะช่วยยึดหน้าดินไว้ ให้คงความเป็นคันดิน ทำหน้าที่ชะลอน้ำต่อไป
“โดยปกติ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 1 อ.ฝางแห่งนี้ จะร่วมกับชาวบ้าน และหน่วยงานในพื้นที่ทำฝายดอยคำอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทั้งนี้ยังตั้งเป้าให้เป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อให้นักเรียนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมและได้เรียนรู้ประโยชน์ของการทำฝายดอยคำ ซึ่งเป็นฝายที่ช่วยในการกักเก็บน้ำให้พื้นดินมีความชุ่มชื้นในช่วงฤดูแล้ง เป็นแหล่งน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและชาวบ้านในชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ ทั้งยังช่วยลดความแรงของน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ หากมีฝนตกหนักหรือน้ำป่าไหลหลาก ช่วยป้องกันความเสียหารแก่ชุมชนและโรงงานหลวงฯ เนื่องจากเป็นฝายชั่วคราววัสดุที่ใช้ทำฝายเป็นวัสดุธรรมชาติ มีอายุการใช้งาน 1-2 ปี ซึ่งไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” นายพิพัฒพงศ์ กล่าว
น้องพิณแพง ด.ญ.ศินาถ สารภิรมย์ อายุ 9 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนอนุบาลปัตตานี จ.ปัตตานีที่ใช้เวลาช่วงปิดเทอมมาร่วมทำฝาย เล่าให้ฟังว่า วันนี้ได้ตอกไม้ไผ่เผื่อทำฝาย โดยมีพี่ๆ จิตอาสามาช่วยสอน และได้ลำเรียงหญ้าแฝกเพื่อมาทำเป็นแผงเหมือนกำแพง ช่วยกรองตะกอนดินและรักษาหน้าดินแม้อากาศจะร้อน แต่สนุกดีชอบที่ได้มาช่วยกัน และได้รู้จักเพื่อนๆ พี่ๆหลายคน
©2018 CK News. All rights reserved.