วันนี้(24ก.ย.2565 ) ผู้สื่อข่าว ประจำจ.สุรินทร์รายงานว่า ชาวตำบลสะเดา อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ได้มีการเเห่ขบวนเฌอเเซนโฎณตาตามประเพณี ชุมชนตำบลสะเดา โดยมีนายกองค์การบริหารตำบลสะเดา กำนันตำบลสะเดา ผู้ใหญ่ผู้ช่วยตำบลสะเดา เเละนักเรียนโรงเรียนบ้านสะเดาพร้อมกับพี่น้องประชาชนในชุมชน 6 ชุมชน
โดยใช้เวลาจัดเตรียมอาหารคาวหวาน ผักผลไม้นานนับสัปดาห์ กว่าจะได้เครื่องเซ่นไหว้กว่า 40 อย่าง ใส่จนเต็มกระเฌอยักษ์ เครื่องจักสานฝีมือชาวบ้าน ต.สะเดา อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ ที่นำมาแทนความสามัคคี แสดงกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ผู้ล่วงลับไปแล้ว ในงานบุญเดือน 10 แห่กระเฌอแซนโฎนตา
ขบวนแห่เฌอแซนโฏนตา จาก 6หมู่บ้าน ความยาวเกือบ 1 กิโลเมตร เป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมประเพณี และฟื้นฟูการสานกระเฌอ ภูมิปัญญาจักสานพื้นบ้านที่ตกทอดอยู่ในชุมชนสุรินทร์พื้นถิ่นเชื้อสายเขมร
บุญใหญ่ที่ร่วมอุทิศให้กับญาติที่ล่วงลับ ทำพร้อมกันทุกปีที่วัดศิลาอาสนาราม ตามความเชื่อว่าตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เชื่อว่าวิญญาณบรรพบุรุษจะกลับมาเยี่ยมลูกหลาน เครื่องเซ่น เช่น ข้าวต้ม หมูย่าง ไก่ย่าง ปลาย่างและเครื่องดื่ม แต่ละครอบครัวจะช่วยกันจัดเตรียมอย่างดี โดยถืองานแซนโฎนตาเป็นวันรวมญาติ
ชูศักดิ์ พันธภา กล่าวว่า การทำบุญสารทเดือนสิบว่า พ่อแม่ปู่ย่าทำตามกันมา หาอะไรได้ก็เอามาทำบุญ ให้เขาอิ่มเขาก็จะให้พร
ขณะที่พระครูสันติธรรมาภินันท์ เจ้าอาวาสวัดศิลาอาสนาราม กล่าวว่า ช่วงหลังมีกะละมัง ภาชนะใหม่ๆใส่ของเซ่นไหว้เอามาที่วัด ซึ่งแต่เดิมเป็นกระเชอที่สานกันเอง จึงจัดให้นำกระเชอมาใช้ในขบวน
ทั้งนี้ คำว่า "แซน" หมายถึงการเซ่นไหว้ โฎนคือย่ายาย และตาก็คือปู่ตาค่ะ แซนโฎนตา จึงเป็นเหมือนวันนัดหมายใหญ่ที่ลูกหลานจะร่วมกันแสดงกตัญญูต่อบรรพบุรษ ในวันแรม 14 ค่ำเดือน 10 เรียกว่าเบ็นธมหรือว่าสารทใหญ่ เชื่อว่าเป็นวันสุดท้ายที่ยมโลกจะปลดปล่อยดวงวิญญาณ ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วให้มารับส่วนบุญ จะเซ่นไหว้กัน 3 เวลา ซึ่งที่วัดจะทำอีกครั้งตอนตี 4 วันรุ่งขึ้น ส่วนค่ำนี้แต่ละครอบครัวก็จะทำพิธีกันในบ้านของแต่ละคน
ในพลบค่ำของวัน เป็นช่วงเวลาที่แต่ละบ้านจัดตั้งเครื่องเซ่นไหว้ บ้านหลังใหญ่ของตระกูลพรหมชื่น ดูคับแคบไปถนัดตาเมื่อลูกหลานที่จากไปทำงานต่างถิ่น พร้อมใจกลับบ้านเกิดเพื่อร่วมพิธี คือประเพณีสำคัญประจำปีในพื้นที่ชุมชนชาวไทยเชื้อสายเขมร รวมถึงฝั่งกัมพูชา "ฝั่งโน้นก็มีเหมือนกัน แต่จะต่างที่วิธีปฏิบัติบางอย่าง แต่มาจากความเชื่อเดียวกัน" นายเอี้ยง ยิ่งดัง กรรมการสภาวัฒนธรรมชุมชนวัดศิลาอาสนาราม จ.สุรินทร์ กล่าวเช่นเดียวกับ นายชัย ผิวละออง และนายฉัตรชัย พรหมชื่น ชาวบ้านบ้านกะโงก จ.สุรินทร์ ที่ระบุว่าจะต้องกลับบ้านมาทุกปี ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ต้องกลับมา ช่วงเดือน 10 ของทุกปีมีประเพณีบูชาบรรพบุรุษที่เรียกแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าแซนโฎนตา หรือ บุญข้าวสาก ต่างมีความหมายเดียวกัน นอกจากเป็นเครื่องหมายความกตัญญู ยังร้อยสัมพันธ์ในครอบครัวผ่านประเพณีของชุมชน
©2018 CK News. All rights reserved.