นายกฯสั่ง สธ. เฝ้าระวังโควิด กลายพันธุ์ เพิ่มบริหารจัดการกำจัดขยะติดเชื้อให้มีประสิทธิภาพ


21 ส.ค. 2565, 08:49

นายกฯสั่ง สธ. เฝ้าระวังโควิด กลายพันธุ์ เพิ่มบริหารจัดการกำจัดขยะติดเชื้อให้มีประสิทธิภาพ




วันที่ 21 สิงหาคม 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ (19 ส.ค. 65) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 11/2565 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ซึ่งพบการระบาดในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แม้จะมีการแพร่ระบาดได้ง่าย แต่จำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และจำนวนผู้เสียชีวิต มีแนวโน้มคงที่ ขณะที่จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในสถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้ จึงมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังและติดตามเชื้อกลายพันธุ์ของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวตามแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ตามแม้ขณะนี้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลรักษามากขึ้น รวมถึงประชาชนส่วนมากในประเทศยังให้ความสำคัญในการใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา แต่ขอให้กระทรวงสาธารณสุขยังคงเน้นให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมเรื่องเตียง การใช้ยาอย่างเหมาะสมและต้องเป็นไปตามที่แพทย์สั่ง ไม่ให้ซื้อยามารับประทานกันเองโดยไม่มีใบสั่งจ่ายยาจากแพทย์ รวมไปถึงให้เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องดังกล่าวด้วย ตลอดจนการประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อประสิทธิภาพของวัคซีนเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเกิดความมั่นใจ และพร้อมสมัครใจมารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น และกลุ่ม 608 เพื่อลดอาการรุนแรงและเสียชีวิตหากติดเชื้อโควิดได้ ซึ่งขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอสำหรับประชาชนทุกกลุ่ม และมีสถานพยาบาลของรัฐบาลได้เปิดให้บริการฉีดวัคซีนฟรีแล้ว ทั้งนี้ เพื่อรองรับด้านการท่องเที่ยวและการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาลอันจะสร้างรายได้ให้กับประเทศตามเป้าหมายกำหนดไว้

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลเกี่ยวกับผลสำเร็จในการดำเนินการต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยซึ่งได้รับความชื่นชมและยอมรับจากต่างประเทศ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั้งในและต่างประเทศได้รับทราบอย่างกว้างขวาง รวมถึงการขอความร่วมมือให้ประชาชนทุกภาคส่วน และผู้ประกอบการ ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า สถานบริการต่าง ๆ ยังต้องเข้มข้นในการปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention และมาตรการ COVID - Free Setting ต่อเนื่องเคร่งครัด เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานความร่วมมือกับผู้ให้บริการส่งอาหารของแพลทฟอร์มต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้ส่งสินค้าและผู้รับบริการ รวมไปถึงให้ ศบค. จังหวัด/กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ บริหารจัดการและกำจัดขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพ และรณรงค์ให้ประชาชนมีการแยกขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยออกจากขยะทั่วไป เพื่อป้องกันการเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการศึกษา วิจัยและติดตามการพัฒนายาและวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรองรับต่อการกลายพันธุ์ของเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงปลายปีงบประมาณ 2565 เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เช่น การจัดประชุมสัมมนา การจัดซื้อจัดจ้าง และการดำเนินโครงการต่าง ๆ เป็นต้น โดยขณะนี้การวิจัยพัฒนาวัคซีนของไทย มีความก้าวหน้าโดยลำดับและพัฒนาอยู่ในระยะที่ 3 แล้ว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศไทยในอนาคตอย่างยั่งยืน พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤต และได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากนี้ไปต้องให้คนไทยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติมากที่สุด และสามารถอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างปลอดภัย

ที่ประชุม ศบค. ได้มีการพิจารณาและรับทราบในประเด็นสำคัญ ดังนี้ 

1. รายงานสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ระบาดและผู้ติดเชื้อ โดยสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก แนวโน้มพบผู้ติดเชื้อทั้งในทวีปเอเชีย และทั่วโลก เพิ่มขึ้นแบบ Small wave หลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันภายในประเทศ และการเดินทางเข้าประเทศ ขณะที่แนวโน้มพบผู้เสียชีวิตคงตัว สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ประเทศไทยระยะ post-pandemic มีลักษณะเป็น Small wave โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว ส่วนจังหวัดอื่นมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อคงตัว ทำให้ผู้ป่วยกำลังรักษาผู้ป่วยหนัก ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 คงตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หรือยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ LAAB สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่กำหนด ขณะที่อัตราครองเตียงระดับ 2-3 สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 และปริมาณยาที่ใช้ต่อวัน อยู่ในระดับคงตัว โดยเน้นจังหวัดดำเนินมาตรการ “3 พอ” : บริหารจัดการเตียงระดับ 2-3 จัดหายา เวชภัณฑ์ และวัคซีนคงคลัง รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ในการให้บริการสุขภาพได้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคที่คาดการณ์ รวมทั้งเน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล 2U : Universal Prevention แนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะหรือขณะทำกิจกรรมคนจำนวนมากร่วมกัน และมาตรการ Universal Vaccination โดยเฉพาะกลุ่ม 608 รับการฉีดวัคซีนในทุกเข็ม เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่อาการรุนแรงจนถึงเสียชีวิต รวมทั้งเร่งสื่อสารผู้ปกครอง ให้บุตรหลานอายุ 5-11 ปี รับการฉีดวัคซีน เพื่อลดอาการรุนแรงภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 (MIS-C) ด้วย

2. ความคืบหน้าในการจัดทำกรอบ นโยบาย แนวทางปฏิบัติ และห้วงเวลา ในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post – Pandemic เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคโควิด -19
ทั้งนี้ จากการประเมิน อาการผู้ป่วยมีแนวโน้มไม่รุนแรง ยกเว้น ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรครุนแรง และ กลุ่ม 608
- การใช้ยาต้านไวรัส ควรให้เฉพาะกลุ่มที่มีอาการ หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรง
- การจัดบริการด้านการรักษาพยาบาล พิจารณาอาการผู้ป่วย โดยถ้าไม่มีอาการให้แยกกักที่บ้าน แต่ถ้ามีอาการอื่นๆ จากโรคประจำตัว ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยง หรือ กลุ่ม608 และ/หรือ ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94 % ให้รับไว้ในโรงพยาบาล
- ระยะเวลาในการแยกกักในกรณีที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ให้แยกกักหลังตรวจพบอย่างน้อย 5 วัน จากนั้นให้ปฏิบัติตนแบบ DMH อย่างเคร่งครัดต่ออย่างน้อยอีก 5 วัน  

รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโควิดอย่างปลอดภัย สามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ โดยยังคงใช้วิธีการในการดำเนินการเช่นเดิมให้ดีต่อเนื่อง โดยใช้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือ กทม. จัดทำแผน และมีการสื่อสารแจ้งเตือนสถานการณ์ได้รับทราบเพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการระบาดขึ้นมาผิดปกติกลับมาอีก

โดยที่ประชุมรับทราบข้อเสนอ 
1) กรอบนโยบาย และแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-pandemic) โดยอาศัยอำนาจมาตรา 14 (1) ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 2) ห้วงเวลาการดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ภาวะ Post-pandemic เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคโควิด 19 ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมาย ดังนี้ 1) ฝ่ายเลขานุการ ตาม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ดำเนินการปรับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง 
2) คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. จัดทำแผนการเปลี่ยนผ่าน และแผนรองรับการระบาด ในระดับจังหวัด ตามกรอบนโยบายของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และ 
3) กรมประชาสัมพันธ์สื่อสารประชาชนเพื่อกระตุ้นการรับวัคซีนและเตรียมพร้อมรับการปรับเปลี่ยนตามกรอบนโยบาย

3. ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด -19 ในประเทศ จากแหล่งงบประมาณต่าง ๆ  โดยขณะนี้มีความก้าวหน้าโดยลำดับ เช่น การพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA โดยในปี 2566 จะมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 ก่อนมีแผนที่จะได้รับอนุมัติขึ้นทะเบียนภายในปี 2567 รวมถึงการพัฒนาวัคซีนนิด NDV-HXP-S ขององค์การเภสัชกรรมก็มีความคืบหน้าเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะขึ้นทะเบียนได้ภายในปี 2566 

4.  การขยายระยะเวลาการพำนักของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักร เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19 ที่ประชุมรับทราบนักท่องเที่ยวให้ความมั่นใจที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยสถานการณ์ท่องเที่ยวระหว่างประเทศ (วันที่ 1 ม.ค. – 17 ส.ค. 2565) มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมจำนวน 3,780,209 คน ทำให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวสะสม 176,311 ล้านบาท

ที่ประชุมเห็นชอบการขยายระยะเวลาการพำนักของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19 ดังนี้ 
  1) ขยายระยะเวลาพำนักสำหรับผู้ได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราในการเข้าประเทศ (ผ.30) ทั้งที่ไทยให้แต่ฝ่ายเดียว และที่มีความตกลงระหว่างกัน จากไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน (ผ.45)
  2) ขยายระยะเวลาพำนักสำหรับผู้ได้รับ Visa on Arrival จากไม่เกิน 15 วันเป็นไม่เกิน 30 วัน
  3) การขยายระยะเวลาพำนักของผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรในข้อ 1 – 2 ข้างต้น ให้มีผลตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 - 31 มีนาคม 2566
  4) มอบหมาย มท. กต. สตม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามมติ ศบค. ต่อไป





คำที่เกี่ยวข้อง : #นายกรัฐมนตรี  









©2018 CK News. All rights reserved.