ป.ป.ส. แจงยาอีรูปหมีสีเหลือง อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์สารสำคัญ ชี้เป็นรูปแบบทางการค้า เตือนอันตรายถึงตาย


20 ก.ค. 2565, 19:32

ป.ป.ส. แจงยาอีรูปหมีสีเหลือง อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์สารสำคัญ ชี้เป็นรูปแบบทางการค้า เตือนอันตรายถึงตาย




วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นายวิชัย ไชมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) ได้เปิดเผยถึงการจับกุมยารูปหมีสีเหลือง ที่จ.นครพนม จำนวน 18,807 เม็ด พร้อมยานอนหลับ จำนวน 54,939 เม็ด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 โดยยาอีและยานอนหลับดังกล่าว จะมีการตรวจพิสูจน์สารแบบละเอียดเพื่อจำแนกสารประกอบต่อไป ทั้งนี้เตือนถึงการใช้ยาเสพติด เช่น ยาอีมีอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้เกิดภาวะหยุดหายใจและเสียชีวิตได้

 นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ยาอี (Ecstacy) จัดอยู่ในยาเสพติดประเภท 1 มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ methylenedioxy methamphetamine หรือ MDMA โทษทางกฎหมายตามประมวลกฎหมายยาเสพติด หากจำหน่ายและทำหน้าที่เป็นผู้สั่งการมีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต ปรับสูงสุด 5 ล้านบาท หรือประหารชีวิต ผู้ที่เสพยาอีประสาทส่วนกลางจะถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง มีอาการประสาทหลอน เห็นภาพผิดปกติ อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น หายใจเร็ว โดยผู้ที่เสพยาอีเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคทางจิต

โดยยาอีเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวกลางคืน บ่อยครั้งจะพบว่า นักเที่ยวจะใช้ยาอีร่วมกับแอลกอฮอลล์รวมถึงยาเสพติดชนิดอื่น เช่น คีตามีน โดยรูปแบบที่ขายกันในหมู่นักเที่ยวมักจะมีลักษณะคล้ายขนมของเด็ก มีสีสด มีรูปร่างที่หลากหลายโดยเชื่อว่ายาอีรูปหมีที่จับกุมได้ที่ จ.นครพนม อาจจะเป็นรูปแบบหนึ่งของการผลิต เพื่อจุดประสงค์ทางการค้า

ขณะนี้ของกลางยาอีดังกล่าว อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์ส่วนผสมเพื่อจำแนกเป็นฐานข้อมูลลักษณะเฉพาะของยาเสพติด (Drug profile) ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยจับกุมยาอีที่มีลักษณะทางกายภาพคล้ายกับที่ปรากฏเป็นข่าว จำนวน 2 คดี โดยคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2564 ที่ ต.นิยมชัย จ.ลพบุรี จับกุม ยาอีรูปหมีสีเหลือง จำนวน 28,930 เม็ด และคดีที่ 2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 จับกุมยาอีรูปหมีสีม่วง จำนวน 42,000 เม็ด โดยทั้ง 2 คดี มีจำนวนสาร MDMA (methylenedioxy methamphetamine) จำนวนใกล้เคียงกันที่ 48 เปอร์เซนต์ 

เลขาธิการ ป.ป.ส. ได้กล่าวเตือนถึงการใช้ยาเสพติดโดยเฉพาะการใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นว่า ยาอี ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท จะเป็นการเสริมฤทธิ์ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน ปกติก็มีความผิดทางกฎหมายและความรุนแรงต่อผู้ใช้อยู่แล้ว แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสพยาผสมกับยาชนิดอื่น เช่น คีตามีน ยานอนหลับ ที่มีฤทธิ์กดประสาท ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอันตรายต่อผู้ใช้โดยอาจก่อให้เกิดภาวะ หยุดหายใจ หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้





คำที่เกี่ยวข้อง : #ป.ป.ส. ยาอี  









©2018 CK News. All rights reserved.