วันนี้ ( 1 มิ.ย.65 ) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ PDPA : Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ เป็นหนึ่งในกฎหมายสำคัญด้านดิจิทัล 12 ฉบับ ที่รัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมผลักดันเพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างมาตรฐานการใช้ เก็บ เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคลของไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมีหลักการสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกนำไปใช้อย่างเป็นธรรมโปร่งใส และได้รับการดูแลมิให้มีการนำข้อมูลไปใช้งานในทางที่ผิด กำหนดมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้องค์กรสามารถใช้ข้อมูลในทางที่ไม่ก่อให้เกิดเป็นการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูลมากจนเกินไป รวมถึงจะต้องรักษาความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังเป็นมุ่งยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศด้วย
โฆษกรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯจะมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นประโยชน์ต่อประชาชน องค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงประเทศชาติ รวมถึงได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้เกิดขึ้นกับบุคคลหรือนิติบุคคลในการเก็บข้อมูล รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการใช้ข้อมูล หรือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ หากผู้ใดหรือองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามนั้น มีโทษทั้งทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง โดยตัวอย่างการกระทำที่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้แก่ 1) เอาประวัติการทำความผิดคนอื่นไปโพสต์ในเฟซบุ๊กโดยที่เจ้าตัวเขาไม่ได้ยินยอม 2) เอาเรื่องราวการเจ็บป่วยของคนอื่นมาเผยแพร่ให้คนอื่นรู้ 3) ไปเอารูปคนอื่นในกูเกิ้ลแล้วมาตกแต่งรูปภาพ แล้วใส่ข้อความไม่ว่าจะชื่นชม หรือด่าทอ คนอื่นโพสต์รูปภาพ-ข้อความในเฟซบุ๊กของเขา แล้วเราหมั่นไส้เลยเข้าไปคอมเม้นต์ แล้วทำให้เขาเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง 4) หัวหน้างานลงโทษออกใบเตือนลูกน้องแล้วเอาใบเตือนมาติดบอร์ด หรือส่งในไลน์กลุ่ม หรือไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก 5) การไปแจ้งความว่าโดนคนอื่นฉ้อโกง พอได้ใบแจ้งความจากตำรวจแล้วเอาไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อเตือนคนอื่นไม่ให้หลงกลถูกหลอกอีก เป็นต้น โดยการกระทำดังกล่าว มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“รัฐบาลและกระทรวงดีอีเอส ให้ความสำคัญ การคุ้มครองสิทธิของประชาชนในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล เป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับการผลักดันเรื่องการสร้างสรรค์นวัตกรรม และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมรองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ของไทย ที่ต้องแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและการบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังใช้ระบบดิจิทัล เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในทุกมิติด้วย” นายธนกร กล่าว
©2018 CK News. All rights reserved.