วันที่ 11 พฤษภาคม - นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน
โดยเป็นการขอเลือก ขอคืน และขอกู้ รวมทั้งการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น อาทิ เพิ่มเงินทดแทนกรณีขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ จากร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เพิ่มจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรจากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน เป็นต้น รวมทั้งแก้ไขขยายอายุขั้นสูงของผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง จากเดิม อายุ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นอายุ 65 ปีบริบูรณ์
นายธนกร กล่าวว่า รายละเอียดของการปรับปรุงร่างฯ ดังนี้ 1. การปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคม กรณีชราภาพ ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อน (ขอเลือก ขอคืนและขอกู้ )โดยกรณีให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพ (ขอเลือก) กรณีให้ผู้ประกันตน สามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนมาใช้ก่อนมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ (ขอคืน) และกรณีให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักค้ำประกันการกู้เงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินได้ (ขอกู้)
2.การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีอื่น โดยประโยชน์ทดแทนในกรณีทุพพลภาพ เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้ จากร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ส่วนกรณีคลอดบุตร เพิ่มระยะเวลาในการจ่ายเงินสงเคราะห์การหยุดงาน เพื่อการคลอดบุตร โดยเหมาจ่ายในอัตราครั้งละร้อยละ 50 ของค่าจ้างจากเดิม เป็นระยะเวลา 90 วันเป็นระยะเวลา 98 วันหรือระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง กรณีสงเคราะห์บุตร ให้ผู้ประกันตนที่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง และภายหลังการสิ้นสภาพเป็นผู้ประกันตน ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์ บุตรต่อไปอีก 6 เดือน
นายธนกร กล่าวว่า การแก้ไขร่างพ.ร.บ.จะทำให้ผู้ประกันตนที่เป็นผู้สูงอายุ ได้รับความคุ้มครองภายใต้ระบบ สามารถ เลือกเข้าถึงแหล่งเงินฉุกเฉินได้เพิ่มเติม โดยใช้เงินกรณีชราภาพที่จะได้รับในอนาคตเป็นเงินทุน และให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันรายได้ยามเกษียณที่ลดลง หากผู้ประกันตนนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนเอามาใช้ก่อนขอเลือก ขอคืน และขอกู้ อาจทำให้เสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมลดลง แต่จะช่วยให้กองทุนมีค่าใช้จ่ายลดลงในระยะยาว นอกจากนั้นการปรับปรุงกฎหมาย ยังรองรับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยให้ผู้ประกันตนที่สูงอายุ ได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคม
©2018 CK News. All rights reserved.