"ผู้สมัครส.ส.เขต 1" จ. ตรัง แข่งหาเสียงกันดุเดือด ลงพื้นที่พบปะประชาชน ชูนโยบายยาง-ปาล์มช่วยหลือเกษตรกร


4 มี.ค. 2562, 14:32

"ผู้สมัครส.ส.เขต 1" จ. ตรัง แข่งหาเสียงกันดุเดือด ลงพื้นที่พบปะประชาชน ชูนโยบายยาง-ปาล์มช่วยหลือเกษตรกร




น.พ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ 3 สมัย แสดงความเชื่อมั่นว่า ตนเองจะได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง เพราะจากการลงไปสัมผัสพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ก็ยังคงให้การตอบรับด้วยดี แม้จะมีกระแสออกมาโจมตีว่า ไม่มีผลงานบ้าง หรือบอกให้เปลี่ยนตัวผู้แทนบ้าง แต่ตนเองก็พยายามเข้าไปอธิบายจนทุกคนเกิดความเข้าใจ และให้การสนับสนุนอยู่เหมือนเดิม เพราะเห็นว่าการนำเสนอด้วยข้อมูล นโยบาย หรือการลงไปพบปะพี่น้องประชาชน เป็นแนวทางที่พรรคประชาธิปัตย์ยึดมั่นและทำเสมอมาทุกสมัยของการเลือกตั้ง ถึงแม้ครั้งนี้จะมีผู้ลงสมัครแข่งขันเป็นจำนวนมากมายเพียงใดก็ตาม

ส่วนนโยบายหลักในการนำเสนอต่อชาวตรังก็คือ การแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ในฐานะที่ตนเองเป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านนโยบายยางและปาล์มมา 2-3 ปีแล้ว จึงรู้แนวทางแก้ไขที่จะสามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อผลักดันราคายางให้อยู่ที่ กก.ละ 60 บาท และปาล์มให้อยู่ที่ กก.ละ 4 บาท พร้อมสร้างมูลค่าหรือนำมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันตนเองก็ยังได้นำเสนอนโยบายด้านสังคมในกลุ่มต่างๆ เช่น เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ อสม. เพื่อสานต่อในสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เคยทำไว้ในสมัยที่เคยเป็นรัฐบาล ซึ่งพี่น้องประชาชนต่างก็เชื่อมั่นว่าจะสามารถทำได้จริงๆ และต้องการให้เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน



ด้าน ผศ.ดร.จิโรจน์ พีระเกียรติขจร อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง และผู้จัดการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (ภาคใต้) มองว่า ขณะนี้พรรคภูมิใจไทย ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของชาวตรัง ทั้งคุณสมบัติของผู้สมัคร และนโยบายของพรรคที่ชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง หรือความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเป็นระบบ ด้วยแนวคิดใหม่ๆ อีกทั้งผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ยังเชื่อว่า พรรคภูมิใจไทยจะได้เก้าอี้ ส.ส.ทั่วประเทศ มาเป็นที่ 2 หรือ 3 เพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะเป็นโอกาสในการดึงงบมาพัฒนาจังหวัดตรัง โดยผ่านผู้แทนของแต่ละจังหวัด

สำหรับนโยบายหลักในการนำเสนอต่อชาวตรัง พรรคภูมิใจไทยจะเน้นแก้ปัญหาเรื่องยางและปาล์ม โดยผลักดันราคายางให้อยู่ที่ กก.ละ 70 บาท และปาล์มให้อยู่ที่ กก.ละ 5 บาท ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริงๆ เช่น มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางอย่างมีคุณภาพ เพื่อลดสต๊อกยางที่มีอยู่ให้หมดไปโดยเร็วที่สุด หรือนำน้ำมันปาล์มไปผลิตเป็นไบโอดีเซล และพลังงานบนดิน หรือพลังงานไฟฟ้า แทนที่จะใช้พลังงานใต้ดินอย่างเช่นปัจจุบัน อาทิ ถ่านหิน น้ำมันเตา ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษ มีการสนับสนุนให้แต่ละครัวเรือนปลูกกัญชาสายพันธุ์ไทยอย่างถูกกฏหมายเพื่อสร้างรายได้เสริม หรือเพิ่มเงินเดือนให้แก่ อสม. เพื่อยกระดับการทำงานให้สะดวก รวดเร็ว












©2018 CK News. All rights reserved.