กลุ่มไวยาวัจกร-คนใกล้ชิด ยอมถอนเงินกว่า 63 ล้าน ถวายคืนหลวงพ่อ


23 พ.ย. 2564, 14:32

กลุ่มไวยาวัจกร-คนใกล้ชิด ยอมถอนเงินกว่า 63 ล้าน ถวายคืนหลวงพ่อ




ตำรวจสอบสวนกลาง โดย กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร่วมกับตำรวจภูธรภาค ๖ "ร่วมกันถวายเงินคืนแด่ ‘พระราชมงคลวัชราจารย์’ (พัฒน์ ปุญญกาโม)  จำนวน ๖๓,๐๓๔,๔๗๐ บาท"

(จากนโยบายด้านการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. และ พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก. เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการประกอบด้วย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป., พ.ต.อ.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ รอง ผบก.ปปป., พ.ต.อ.ณัฐณวิทย์ สิทธาภิรมย์ ผกก.๑ บก.ปปป., พ.ต.อ.ศราวุธ ศรีสุขศิริพันธ์ ผกก.๒ บก.ปปป., พ.ต.อ.พยงศ์ เอี่ยมสกุล ผกก.3 บก.ปปป., พ.ต.อ.รัฐวุฒิ เจียมศรีพงษ์ ผกก.4 บก.ปปป., พ.ต.อ.เกรียงไกร ขวัญไตรรัตน์ ผกก.(สอบสวน)  กลุ่มงานสอบสวน บก.ปปป. พร้อมกับพวก ได้ประสานการปฏิบัติกับตำรวจภูธรภาค ๖ ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผบช.ภ.๖, พล.ต.ต.ระพีพงษ์ สุขไพบูลย์ ผบก.ภ.จว.นครสวรรค์, พ.ต.อ.สุทธินันท์ คงแช่มดี ผกก.สืบสวน ภ.จว.นครสวรรค์ และ พ.ต.อ.อนุศักดิ์ เข็มทอง ผกก.สภ.ห้วยคต รรท.ผกก.สภ.หนองบัว)

เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันทำการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีหนังสือร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่มไวยาวัจกรของ ‘วัดห้วยด้วน (ธารทหาร)’ อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ และคนใกล้ชิดพระราชมงคลวัชราจารย์ หรือ หลวงพ่อพัฒน์ ปญฺญกาโม เจ้าอาวาสวัดห้วยด้วน



ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ ได้มีกลุ่มลูกศิษย์ของหลวงพ่อพัฒน์ฯ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปปป. ว่า กลุ่มไวยาวัจกรของวัดห้วยด้วน และ คนใกล้ชิดซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัด และมีฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่า ‘ทุจริตยักยอกเงินของวัดห้วยด้วน’ และมีพฤติกรรมไม่น่าไว้วางใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการกิจนิมนต์ และการดูแลสุขภาพของหลวงพ่อพัฒน์ฯ ซึ่งมีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปี พร้อมขอให้ตรวจสอบทรัพย์สินผู้ใกล้ชิดของหลวงพ่อพัฒน์ฯ

เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สืบสวนสอบสวน พบว่า ‘หลวงพ่อพัฒน์ฯ’ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียง ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีความเมตตาสูง จนมีประชนชนและลูกศิษย์ เลื่อมใส ศรัทธา เคารพนับถือจำนวนมาก จึงทำให้มีผู้มาขอให้ ‘หลวงพ่อพัฒน์ฯ’ ปลุกเสกวัตถุมงคลต่างๆ และถวายเงินแด่หลวงพ่อพัฒน์ฯ เป็นเงินปีละกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท ซึ่งหลวงพ่อ จะนำเงินที่ได้รับถวาย ใช้ในการทำนุบำรุงศาสนาและให้หน่วยงานที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ เพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น วัด โรงพยาบาล และโรงเรียนต่างๆ จำนวนมาก โดยไม่ได้นำเงินไปใช้ในทางส่วนตัว

เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบกลุ่มไวยาวัจกรและคนใกล้ชิดหลวงพ่อพัฒน์ฯ คือ นายเสนาะฯ, นางชัญญาฯ และนางบุญเชิดฯ ทั้ง 3 ราย ประกอบอาชีพเกษตรกร ไม่ได้ประกอบอาชีพที่มีรายได้สูง พบว่ามีการนำเงินไปเข้าบัญชีในชื่อตนเอง จำนวน ๗ บัญชี รวมเป็นเงิน ๖๓,๐๓๔,๔๗๐ บาท เชื่อว่าเป็นเงินของ ‘หลวงพ่อพัฒน์ฯ’ จึงได้อายัดเงินในบัญชีดังกล่าวไว้ และเข้าตรวจสอบภายในวัดห้วยด้วน พร้อมได้ตรวจยึดเอกสารและหลักฐานต่างๆ นำมาตรวจสอบ


สอบถาม ‘หลวงพ่อพัฒน์ฯ’ ได้ความว่า เงินที่ได้รับการถวาย หลวงพ่อพัฒน์ฯ จะให้กลุ่มไวยาวัจกรและคนใกล้ชิดนำเงินไปฝากในบัญชีส่วนตัวเพื่อสะดวกในการเบิกเงินมาใช้ในการสร้างเจดีย์กลางน้ำและสาธารณประโยชน์  ซึ่งจำได้ว่ามอบเงินให้ไปฝากประมาณ 28 ล้านบาท เท่านั้น และเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่างวดก่อสร้างเจดีย์กลางน้ำ หลวงพ่อพัฒน์ฯ ได้ให้นายเสนาะฯ ไปถอนเงิน จำนวน 15 ล้านบาท เพื่อมาจ่ายให้กับผู้รับเหมา แต่นายเสนาะฯ  ไม่ยอมถอนเงินมาให้ทำให้หลวงพ่อพัฒน์ฯ ต้องหาเงินจากส่วนอื่นมาจ่ายค่าก่อสร้างเจดีย์กลางน้ำแทน

สอบสวนเบื้องต้น ไวยาวัจกรทั้ง 3 ราย รับว่าเงินจำนวน ๖๓ ล้านบาท เป็นเงินของหลวงพ่อพัฒน์ฯ และยินยอมทำบันทึกสมัครใจถอนเงินจำนวนดังกล่าวมาถวายคืนแด่หลวงพ่อพัฒน์ฯ ส่วนเงินในบัญชีธนาคารของนายเสนาะฯ จำนวน 1 บัญชี เป็นเงิน 7.9 ล้านบาท เจ้าหน้าที่ได้อายัดไว้เพื่อตรวจสอบต่อไป

ทั้งนี้ การกระทำของไวยาวัจกรวัดห้วยด้วน (ธารทหาร) ทั้ง ๓ ราย ที่เป็นเจ้าพนักงาน ตามมาตรา ๔๕ แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งพนักงานสอบสวนของ บก.ปปป. ได้แสวงหาข้อเท็จจริง รวมทั้งรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้นไว้แล้วนั้น พนักงานสอบสวน บก.ปปป. ต้องส่งสำนวนการสอบสวนดังกล่าวให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ เพื่อไต่สวนและวินิจฉัยว่ามีการกระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ ตามมาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๖๑











©2018 CK News. All rights reserved.