การเมืองถอยหลัง 20 ปี! ไพบูลย์โมเดล เปิดประตูเผด็จการรัฐสภา


21 ต.ค. 2564, 10:15

การเมืองถอยหลัง 20 ปี! ไพบูลย์โมเดล เปิดประตูเผด็จการรัฐสภา




เดินทางมาถึงบทสรุปสำหรับ “คดีไพบูลย์โมเดล” ที่ยืดเยื้อมา 2 ปีเต็มภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากลงมติชี้ขาดนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่เคยประกาศตัวเป็นซามูไรด้านกฎหมายไม่พ้นสมาชิกภาพ ส.ส. จากกรณีใช้ช่องกฎหมายทำให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพจากนั้นจากนั้นย้ายไปสังกัดสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)



ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า (1) การสิ้นสภาพ ของพรรคประชาชนปฏิรูป เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย (2)ไม่พบมีเจตนาซ้อนเร้น (3) ส่วนกรณีที่ อ้างว่านายไพบูลย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ต้องอยู่ชำระบัญชีพรรคการเมืองจนกว่าจะแล้วเสร็จนั้น กฎหมายห้ามแค่ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองที่ยุบ แต่ไม่ได้ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองอื่น (4) สำหรับประเด็นเรื่อง นายไพบูลย์ไม่ได้เป็นบุคคลที่ พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ศาลมองว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5) มีวัตถุประสงค์ใช้บังคับช่วงเลือกตั้งแต่ช่วงยุบพรรค นายไพบูลย์ได้รับการประกาศเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแล้ว

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของนายไพบูลย์ไม่สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (10) ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง (5)

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้มีผลผูกพันทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 และได้สร้างบรรทัดฐานการเมืองใหม่ที่ต่อไปในอนาคต ทุกพรรคสามารถน้อมนำคำสอน “ไพบูลย์โมเดล” ยุบพรรคตัวเองไปรวมกับพรรคใหม่ได้ทุกเมื่อ

โดยใช้สูตร พ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา 91 วงเล็บ 7 ยื่นคำร้อง ขอเลิกพรรคการเมือง จากนั้นเมื่อ กกต.อนุมัติส่งผลให้พรรคมีสถานะสิ้นสภาพ โดย พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 91 วรรคท้าย เขียนเปิดช่องเมื่อพรรคการเมืองสิ้นสภาพมีค่าเท่ากับถูกยุบพรรค


จากนั้น ส.ส. สามารถย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ได้ภายในกรอบ 60 วัน ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา มาตรา 101(10)

ทว่าในมุมกลับอย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 99 บัญญัติชัดเจน อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกําหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง ในระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎรจะมีการควบรวมพรรคการเมืองที่มีสมาชิกพรรคเป็นสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรมิได้

บทบัญญัติตามมาตรา 99 เป็นข้อความที่ยกมาจาก มาตรา 104 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แบบครบทุกตัวอักษร โดยมีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันปัญหาเผด็จการรัฐสภา ซ้ำรอยอดีต

ย้อนกลับไปช่วงปี 2544-2548 พรรคไทยรักไทย ในขณะนั้นใช้วิธีควบรวม ส.ส.จากพรรคเสรีธรรม, ความหวังใหม่, ชาติพัฒนา, กิจสังคม ส่งผลให้ พรรคไทยรักไทย มีขนาดใหญ่ขึ้นแบบก้าวกระโดด ทำให้กลไกตรวจสอบอำนาจฝ่ายบริหารของฝ่ายค้านต้องหยุดชะงัก

โดยเฉพาะในช่วงปี 2548 พรรคไทยรักไทย สามารถกวาดเก้าอี้ ส.ส.ได้มากถึง 377 เสียง กลายเป็นรัฐบาลพรรคเดียวที่แข็งแกร่งมากที่สุดตามระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่ พรรคฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 96 คน, พรรคชาติไทย 25 คน และพรรคมหาชน 2 รวมทั้งหมด 123 เสียง แทบตรวจสอบการใช้อำนาจบริหารของรัฐบาลไม่ได้

(1) ฝ่ายค้าน เสียงไม่พอยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาตรา 185 บัญญัติ ต้องใช้เสียง ส.ส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 5 หรือ 200 เสียง ในการเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี

(2) ฝ่ายค้าน เสียงไม่พอเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้ถอดถอนบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพราะ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 มาตรา 304 กำหนดต้องใช้เสียง 1 ใน 4 หรือ 125 เสียง

จากนั้นช่วงปี 2549 จึงเกิดความวุ่นวายทางการเมืองและนำไปสู่การยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549

นำไปสู่การ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 วางกฎเหล็กมาตรา 104 ห้าม ส.ส.ควบรวมพรรค ระหว่างอายุของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อป้องกันปัญหา เผด็จการรัฐสภา

นาทีนี้ “ไพบูลย์โมเดล” คือจุดเปลี่ยนสำคัญกำลังลากการเมืองไทยถอยหลังกลับไป 20 ปี สุ่มเสี่ยงซ้ำรอยเผด็จการรัฐสภา!


คำที่เกี่ยวข้อง : #ไพบูลย์โมเดล  









©2018 CK News. All rights reserved.