"ราคาบุหรี่" พุ่งกระฉูดสูงสุดซองละ 72 บาท หลังภาษีใหม่บังคับใช้ 1 ต.ค.นี้


29 ก.ย. 2564, 09:21

"ราคาบุหรี่"  พุ่งกระฉูดสูงสุดซองละ 72 บาท หลังภาษีใหม่บังคับใช้ 1 ต.ค.นี้




นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้เห็นชอบการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่ตามที่กระทรวงการคลังเสนอแล้ว โดยจะเริ่มมีผลใช้ทันทีในวันที่ 1 ต.ค.64 นี้ ส่วนจะเพิ่มเป็นอัตราใดนั้นขอให้มีการรอประกาศแน่ชัดในราชกิจจานุเบกษาไม่เกิน 1 – 2 วัน

สำหรับโครงสร้างภาษีใหม่บุหรี่ใหม่จะมีการปรับขึ้นทั้งในด้านของคุณ โดยภาษีด้านปริมาณจัดเก็บเพิ่มจากมวนละ 1.20 บาท หรือซองละ 24 บาท เพิ่มเป็นจัดเก็บมวนละ 1.25 บาท หรือซองละ 25 บาท ส่วนภาษีด้านมูลค่า ได้มีการขยับทั้งอัตราภาษีและฐานราคาขายปลีกใหม่ ซึ่งเดิมบุหรี่ราคาขายปลีกไม่เกินซอง 60 บาท เสียภาษี 20% จะปรับเพิ่มเป็นบุหรี่ขายปลีกไม่เกินซองละ 72 บาท เสียภาษีเพิ่มเป็น 25% ส่วนบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกเกินซอง 72 บาท จะเสียภาษีเพิ่มจาก 40% เป็น 42% 

ทั้งนี้ อัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่ใหม่จะมีผลให้ราคาบุหรี่ในท้องตลาดปรับเพิ่มขึ้น โดยจากการคำนวณเบื้องต้น หากมีการจัดเก็บภาษีในอัตราใหม่จะทำให้บุหรี่ขายปลีกที่มีราคาซองละ 55 บาท ปรับเพิ่มเป็น 64 บาท ส่วนบุหรี่ซอง 60 บาท จะมีโอกาสปรับขึ้นสูงสุด 70-72 บาท ส่วนกลุ่มบุหรี่ราคาสูงที่ได้รับความนิยม  ซอง 95 บาท อาจขึ้นเป็นซอง 110-115 บาท โดยรายละเอียดทั้งหมดจะประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 30 ก.ย.64 เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 เป็นต้นไป



อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีดังกล่าวถือว่าเป็นการขึ้นสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยหลังจากนี้ผู้ผลิตบุหรี่ทั้งในและต่างประเทศ จะมีการประชุมเพื่อวางแผนทำตลาดกำหนดราคาอีกครั้ง โดยอาจจะขึ้นราคาบางชนิดเพื่อรักษากำไร รวมถึงอาจยอมขายราคาเท่าเดิมให้มีกำไรลดลง เพื่อรักษาส่วนแบ่งของตลาด

ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิดัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า​ ควรพิจารณาให้บุหรี่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไอคอส เป็นบุหรี่ถูกกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคสูบบุหรี่มวนลดลง หันไปบริโภคบุหรี่รูปแบบใหม่ๆ ส่งผลให้จัดเก็บภาษีของรัฐน้อยลงตามไปด้วย และเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบในประเทศ ก็ได้รับผลกระทบจากราคาใบยาสูบตกต่ำ ส่งผลให้รัฐต้องจ่ายชดเชยช่วยเหลือ


อีกทั้งโครงสร้างภาษีบุหรี่ของไทย ทำให้บุหรี่ไทยหลายยี่ห้อที่โรงงานยาสูบผลิตและจำหน่ายในประเทศ ราคาสูงกว่ายี่ห้อต่างประเทศที่นำเข้ามาค่อนข้างมาก ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงหันไปสูบบุหรี่ต่างประเทศ ทำให้โรงงานยาสูบขาดทุน และบุหรี่ไทยจะตาย โดยนายชัยวุฒิ ได้เสนอที่ประชุมเพิ่มเติมด้วยว่า หากทำให้บุหรี่ไอคอสถูกกฎหมาย จะช่วยลดการขาดทุนของโรงงานยาสูบ เป็นการช่วยเกษตรผู้ปลูกใบยาสูบ​ รัฐไม่ต้องจ่ายชดเชยอีกต่อไป และจะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคบุหรี่ประเภทนี้เป็นจำนวนมาก และในอนาคตอาจมีการตั้งโรงงาน​ เพื่อส่งออก​ เป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรใบยาสูบด้วย

สำหรับบุหรี่ไอคอส หรือบุหรี่ไฟฟ้า ไม่มีการจัดเก็บภาษีใดๆ เนื่องจากเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าตามพ.ร.บ.การส่งออกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 และกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศกำกับการห้ามนำเข้าไว้อีกครั้งเมื่อปี 2557 แต่ก็ยังมีการลักลอบบบุหรี่ไฟฟ้ามาจำหน่ายในประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะการจำหน่ายผ่านออนไลน์ ซึ่งกรมสรรพาสามิต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามปราบปรามจับกุมบุหรี่เถื่อนอย่างต่อเนื่องมาตลอด และได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาไปยังกระทรวงสาธารณะสุขแล้ว แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบแต่อย่างใด











©2018 CK News. All rights reserved.