เคาะจ่ายเยียวยา ม.33 รอบสอง 13 จ.สีแดงเข้ม รับเงินเดือนก.ย.


8 ก.ย. 2564, 09:17

เคาะจ่ายเยียวยา ม.33 รอบสอง 13 จ.สีแดงเข้ม รับเงินเดือนก.ย.




เมื่อวันที่ 8 กันยายน กรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือ ล่าสุดที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 7 กันยายน ว่า ครม.อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผล กระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบการและแรงงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ดังนี้



1.ขยายกรอบวงเงินจาก 17,050.4 ล้านบาท เป็น 17,912.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 862.2 ล้านบาท จากการปรับปรุงจำนวนนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในพื้นที่ 29 จังหวัด โดยมีนายจ้าง 226,394 ราย เพิ่มขึ้น 18,900 ราย และผู้ประกันตน ม.33 จำนวน 3,877,936 ราย เพิ่มขึ้น 400,375 ราย เป็นผลจากการขยายเวลาให้นายจ้างในพื้นที่ 3 จังหวัดและ 16 จังหวัด สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ได้ภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ทั้งนี้ ยังขยายระยะเวลาในการเบิกจ่ายและดำเนินโครงการถึงวันที่ 31 ธันวาคมนี้

2.อนุมัติเงิน 16,103.3 ล้านบาท ช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด เพิ่มเติม 1 เดือน (ส.ค.) แบ่งเป็น 1.ช่วยเหลือนายจ้าง 194,660 ราย จ่ายให้ 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7,257 ล้านบาท 2.ช่วยเหลือผู้ประกันตนตาม ม.33 สัญชาติไทย 3,538,530 คน จะจ่ายให้ 2,500 บาท/คน/เดือน เป็นจำนวนเงิน 8,846.3 ล้านบาท จะเริ่มโอนเงินเยียวยาภายในเดือนกันยายน 2564 นี้

ให้คค.ดูแลแท็กซี่-วินจยย.
นายธนกรกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้เป็นการอนุมัติวงเงินเพิ่มเติม 16,965.5 ล้านบาท เดิมที่อนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 17,050.4 ล้านบาท ทำให้โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 ใน 9 กิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ที่ประกอบด้วยการให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ 13 จังหวัดในระยะเวลา 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.) และในพื้นที่ 16 จังหวัด ระยะเวลา 1 เดือน (ส.ค.) มีกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 34,015.9 ล้านบาท

“ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังห่วงใยกลุ่มผู้ขับแท็กซี่และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อช่วยเหลือเยียวยา กลุ่มผู้ขับแท็กซี่ และกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่ไม่สามารถสมัครเป็นผู้ประกันมาตรา 40 เนื่องจากมีคุณสมบัติอายุเกินที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดไว้ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างครอบคลุมด้วย” นายธนกรกล่าว


นายธนกรยังกล่าวว่า นายกฯสั่งการในที่ประชุม ครม.ใน 2 เรื่องหลัก โดยเร่งกระทรวงศึกษาธิการจ่ายเงินเยียวยาผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด รายละ 2,000 บาท ขณะนี้ดำเนินการโอนไปแล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ย้ำให้เร่งเยียวยาเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด นอกจากนั้น นายกฯ สั่งการให้กระทรวงการคลัง ทบทวนเรื่องบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง ให้เสนอมาตรการอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐมากขึ้น รวมทั้งเร่งสำรวจว่ามีกลุ่มใดที่ตกหล่น

สภาอุตฯโคราชแนะจ่ายเยียวยา
นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ 16 จังหวัด จะไม่ได้รับในรอบที่ 2 มีพื้นที่ จ.นครราชสีมา รวมอยู่ด้วยนั้น มองว่าใน จ.นครราชสีมา มีพนักงานเอกชน และพนักงานโรงงานจำนวนมาก หลังจังหวัดควบคุมโรคโควิดอย่างเข้มงวด ทำให้โรงงานต่างๆ ต้องรับภาระค่าใช้จ่าย ทั้งการหาซื้ออุปกรณ์ชุดตรวจ การทำบับเบิลแอนด์ซีล และการจัดหาสถานที่กักตัวกลุ่มเสี่ยงสีเขียว ยังมีปัญหาพนักงานที่ลาออก หลายบริษัทต้องหาคนงานใหม่มาสอนการใช้เครื่องจักรใหม่อีกครั้ง ทำให้การเดินเครื่องจักรผลิตสินค้าได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่วนบางโรงงานติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ต้องปิดชั่วคราว พนักงานต้องไปอยู่ที่บ้าน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้จะได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคมครึ่งหนึ่งแต่ไม่เพียงพอ รัฐบาลควรแบ่งโซนช่วยเหลือเป็น 3 ระดับ เช่น 13 จังหวัดสีแดงเข้ม อาจช่วยคนละ 2,500 บาท ส่วน 16 จังหวัดที่เคยเป็นสีแดงเข้ม 2,000 บาท และจังหวัดกลุ่มเสี่ยงอื่นที่เห็นสมควร 1,000 บาท เป็นต้น

โรงแรมระยองจี้รัฐดูแล
ส่วนนางอนุชิดา ชินศิระประภา ผู้ประกอบการเจ้าของโรงแรมระยองซิตี้ ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง กล่าวว่า กรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้รับเงินเยียวยาในพื้นที่ควบคุมสีแดงเข้ม 16 จังหวัด รอบแรก 2,500 บาท ส่วนรอบสองไม่ได้รับการเยียวยานั้น คนที่ส่งประกันสังคมไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลและเยียวยา สู้คนที่ไม่ได้ส่งประกันสังคมยังจะได้รับมากกว่า

“ขณะนี้ได้รับผลกระทบสูงมากนอกจากรายได้ไม่เข้าแล้ว ค่าใช้จ่ายก็ยังสูงมาก ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบหนักที่สุดแล้ว ถ้าจะดูแลเรื่องพนักงาน ควรดูแลผู้ที่ประกันตน เกิดวิกฤตขึ้นมาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเช่น ท่องเที่ยวบริการ โรงแรม ร้านอาหาร น่าเยียวยาให้ผู้ที่ประกันตนไปเลย


คำที่เกี่ยวข้อง : #เคาะจ่ายเยียวยา  









©2018 CK News. All rights reserved.