เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยเมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ สมาคมและภาคธุรกิจเอกชนจะเข้าหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอความชัดเจนในแนวทางการกลับมาประกอบธุรกิจอีกครั้ง หลังจากมีมาตรการล็อกดาวน์และสั่งห้ามไม่ให้นั่งรับประทานอาหารที่ร้านตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนัก
โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ผู้ประกอบการจำนวนมากต้องปิดกิจการลง เพราะรายได้หลักของร้านอาหารกว่า 80% มาจากนั่งรับประทานที่ร้าน จากมูลค่าธุรกิจอาหารในไทยกว่า 1,400 ล้านบาทต่อวัน เมื่อเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ และไม่สามารถนั่งทานที่ร้านได้ เท่ากับยอดขายหายไป 80% คิดเป็นรายได้ที่ธุรกิจสูญเสียกว่า 1,100 ล้านบาทต่อวัน รวมช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาหายไปจากระบบเศรษฐกิจกว่า 34,100 ล้านบาท
“ตอนนี้สิ่งที่อยากได้มากสุด คือความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ จะสามารถเปิดร้านอาหารได้ช่วงไหน อาทิ เร็วที่สุดภายในวันที่ 1 กันยายนหรืออย่างช้าวันที่ 15 กันยายน ผู้ประกอบการขณะนี้ไม่ใช่ไม่กลัวการระบาดโควิดแต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีความสาหัสมาก สายป่านหรือสภาพคล่องของธุรกิจหมดแล้ว แทบจะยืนไม่ไหวกันแล้วจริงๆ ทำให้จำเป็นต้องขอเปิด ให้มีรายได้เข้ามาเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมบ้าง” นางฐนิวรรณ กล่าว
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยกรณีระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่องบประมาณสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 8,000 ล้านบาท ช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ว่า ถือว่าเป็นเม็ดเงินที่เหมาะสม สามารถช่วยเหลือธุรกิจได้จริง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอีในการเสริมสภาพคล่อง และการปรับรูปแบบการค้ำประกันเป็นการค้ำแบบไขว้ระหว่างผู้ประกอบการด้วยกัน บริษัทกับบริษัท หรือเอกชนกับเอกชนด้วยกัน จะเป็นสิ่งที่ดีมาก ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่มีสินทรัพย์ในการค้ำประกันกับธนาคารพาณิชย์
นางมาริสากล่าวว่า สำหรับแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ อยากให้เริ่มต้นอนุญาตทำกิจกรรมในโรงแรมได้ก่อน โดยเฉพาะการใช้สระว่ายน้ำ เนื่องจากยังมีกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อนอย่างแท้จริงในโรงแรมตามชายหาดติดทะเล หรือมีสระว่ายน้ำให้บริการ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถใช้บริการได้ รวมถึงการพิจารณามาตรการควบคุมการระบาดโควิดแบบเฉพาะลักษณะของธุรกิจและเฉพาะพื้นที่ อาทิ การใช้ห้องประชุม ที่กำหนดไม่ให้รวมตัวกันเกิน 5 คน แต่ในความเป็นจริงแม้ให้ 50 คนขึ้นไปก็ไม่ใช่จำนวนที่จะสามารถจัดกิจกรรมสร้างเม็ดเงินได้ เพราะอย่างน้อยต้องเป็นจำนวน 100 คนขึ้นไป จึงอยากให้พิจารณาในส่วนนี้ด้วย เพราะสามารถกำหนดมาตรการควบคุมได้
©2018 CK News. All rights reserved.