"ผู้ว่าฯภูเก็ต" สั่งคุมเข้มแคมป์ที่พัก-โรงงาน เร่งตรวจเชื้อโควิดให้แรงงานด้วย ATK สกัดการแพร่ระบาด


17 ส.ค. 2564, 08:50

"ผู้ว่าฯภูเก็ต" สั่งคุมเข้มแคมป์ที่พัก-โรงงาน เร่งตรวจเชื้อโควิดให้แรงงานด้วย ATK สกัดการแพร่ระบาด




วันที่ 17 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต พบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนที่เชื่อมโยงกับผู้ใช้แรงงานและแรงงานต่างด้าวที่พักอาศัยในแคมป์ที่พัก โรงงาน หรือสถานประกอบการ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 48/2564 เมื่อวันที่14 สิงหาคม 2564 จึงลงนามคำสั่งที่ 4652/2564 ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2564 กำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)ในแคมป์ที่พัก โรงงาน หรือสถานประกอบการ โดยมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้แคมป์ที่พัก โรงงาน สถานประกอบการที่มีแรงงานไทยและต่างด้าวพักอาศัย หรืออยู่ในความดูแล ให้ทำงานประจำในสถานที่ทำงานที่ใดที่หนึ่ง หลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานหลายที่ในคราวเดียวกัน โดยยังสามารถดำเนินกิจการได้ภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้

1.ให้แคมป์ที่พักโรงงาน สถานประกอบการ ทำการสุ่มตรวจแรงงานโดยวิธี ATK (Antigen Test Kit) ตามแนวทาง Bubble & Seal เพื่อป้องกันและควบคุมโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการแนบท้ายคำสั่งนี้ กรณีพบผู้มีผลบวกน้อยกว่าร้อยละ 10 ให้แยกแรงงานที่ผลเป็นบวกออกมาพักกักตัวในสถานที่ที่เตรียมไว้ สำหรับแรงงานที่ผลการตรวจเป็นลบ ให้สามารถทำงานต่อได้ และให้มีการสุ่มตรวจทุกหนึ่งสัปดาห์ โดยผู้ที่มีอาการ ให้ปรึกษาแพทย์/เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อพิจารณาให้การรักษาหรือรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อไป



2.ให้แคมป์ที่พัก โรงงาน สถานประกอบการ ต้องมีการเตรียมสถานที่พักกักตัวแรงงาน กรณีพบผู้มีผล ATK positive (ผลการตรวจด้วย Antigen Test Kit เป็นบวก) ในสถานประกอบการ มากกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนแรงงานในสถานประกอบการนั้น โดยจะจัดที่พักกักตัวในลักษณะห้องแยกหรือห้องรวมก็ได้ตามบริบทของพื้นที่ โดยให้มีการพักกักตัวของแรงงานทุกคนเป็นระยะเวลา 14 วันนับตั้งแต่วันที่ตรวจพบเชื้อ

3.ให้แคมป์ที่พัก โรงงาน สถานประกอบการ ที่สามารถจัดหาที่พักในสถานที่ทำงานได้ให้แยกตัวผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เข้าอยู่ในที่พักนั้น กรณีที่ไม่สามารถจัดหาที่พักในสถานที่ทำงานได้ ให้จัดพาหนะรับ-ส่ง ระหว่างสถานที่ทำงานกับที่พักในลักษณะของ Seal Route คือเดินทางระหว่างสถานที่ทำงานกับที่พักโดยห้ามมีให้ออกนอกเส้นทาง หรือแวะระหว่างทางโดยเด็ดขาด

4.ให้แคมป์ที่พัก โรงงาน สถานประกอบการ ดูแลแรงงานที่ถูกกักตัวในพื้นที่จัดเตรียมไว้โดยให้ดูแลเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และสิ่งอำนวยความสะดวกให้เรียบร้อย โดยปฏิบัติตามคำสั่งหรือประสานการปฏิบัติกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ ส่วนเรื่องยาและเวชภัณฑ์เบื้องต้นให้ประสานไปทางโรงพยาบาลภาครัฐในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

5.กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในลักษณะแคมป์ที่พัก โรงงาน หรือสถานประกอบการที่มีนายจ้างดูแลโดยตรง หากตรวจ ATK พบผลบวก ให้ประสานศูนย์ CI (Community Isolation) แต่ละพื้นที่ หรือศูนย์ CI ระดับจังหวัด หมายเลขโทรศัพท์ 09-9314-4838 เพื่อนำตัวมาแยกพักดูแลรักษาในศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ชุมชน CCC (COVID-19 Care Center) ตามพื้นที่นั้นๆ

6.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ จัดเตรียมศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ชุมชน CI (Community Isolation) ทุกตำบล โดยอำเภอร่วมวางแผนและกำกับดูแล และประสานกับโรงพยาบาลภาครัฐในพื้นที่

การควบคุมกำกับดูแลแรงงานคนไทยหรือแรงงานต่างด้าวในแคมป์ที่พัก โรงงานสถานประกอบการ ห้ามมิให้รวมกลุ่มมั่วสุมดื่มสุราหรือรับประทานอาหารร่วมกัน ที่ไม่เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด และให้ปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A โดยเคร่งครัด

หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งฉบับนี้ อาจเป็นความผิดตามมาตรา 51 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และอาจได้รับโทษตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ












©2018 CK News. All rights reserved.