เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม กรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยอดติดเชื้อยังสูง รัฐบาลต้องออกมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ล่าสุดนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ว่า ครม.อนุมัติให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ปรับปรุงรายละเอียดสาระสำคัญของโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนี้ 1.เปลี่ยนชื่อโครงการเป็นโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง 2.ขยายพื้นที่ดำเนินการจาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด โดยเพิ่มเติม 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก นครนายก นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง
นายอนุชากล่าวต่อว่า 3.กรอบวงเงินโครงการ จากเดิม 15,027.6860 ล้านบาท เป็น 17,050.4145 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,022.7285 ล้านบาท 4.ขยายระยะเวลาให้นายจ้างในพื้นที่ 3 จังหวัด (ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 28) และ 16 จังหวัด (ข้อกำหนด ฉบับที่ 30) สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมรายใหม่ได้ โดย สปส.จะตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจนถึงวันที่ 24 สิงหาคมนี้
นายอนุชากล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบกรอบวงเงิน 33,471.0050 ล้านบาท เยียวยาผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 ในพื้นที่ 29 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยช่วยเหลือค่าครองชีพคนละ 5,000 บาท รวมทั้งสิ้น 6,694,201 คน โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้ 1.พื้นที่ดำเนินการ 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา นครราชสีมา ระยอง ราชบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ลพบุรี เพชรบูรณ์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี เพชรบุรี ตาก อ่างทอง นครนายก สมุทรสงคราม และสิงห์บุรี กลุ่มเป้าหมายรวมประมาณ 6,694,201 คน การจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และมาตรา 40 จะโอนเงินให้กับผู้ประกันตนผ่านบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) เฉพาะที่ผูกบัญชีกับเลขประจำตัวประชาชน
นายอนุชากล่าวว่า นอกจากนี้ ได้ให้กระทรวงแรงงานจัดทำข้อเสนอขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมายที่รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ 13 จังหวัดเพิ่มเติมอีกจำนวน 1 เดือน ซึ่งจะช่วยให้การให้ความช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
©2018 CK News. All rights reserved.