สธ.แจงส่งวัคซีนไฟเซอร์ลอตแรก 50-75% เหตุบูสเตอร์โดสด้วยแอสตราฯ แล้ว 20%


9 ส.ค. 2564, 10:23

สธ.แจงส่งวัคซีนไฟเซอร์ลอตแรก 50-75% เหตุบูสเตอร์โดสด้วยแอสตราฯ แล้ว 20%




นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเมื่อวานที่ผ่านมา (8 ส.ค. 2564) ถึงเรื่องการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จำนวน 1.5 ล้านโดส ที่ได้รับการบริจาคจากสหรัฐอเมริกา ว่า การจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ 7 แสนโดส เริ่มทยอยจัดส่งตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค. 2564 ไปยังโรงพยาบาลใหญ่ครบ 170 แห่งทั้ง 77 จังหวัดภายใน 3 วัน และเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค. 2564 ถือว่าเร็วกว่ากำหนดที่วางไว้ 5 วัน ขณะนี้ฉีดแล้ว 5.7 หมื่นโดส จากการติดตามอาการไม่พึงประสงค์ พบอาการปวด บวม ร้อน และไข้เล็กน้อย ไม่มีอาการรุนแรง

“การจัดส่งวัคซีนไปโรงพยาบาลใหญ่ เนื่องจากมีศักยภาพในการเก็บรักษาควบคุมอุณหภูมิและควบคุมติดตามการฉีดได้ง่ายกว่ากระจายไปจุดย่อยๆ และเมื่อเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส วัคซีนจะมีอายุ 31 วัน จึงต้องเร่งฉีดให้หมด โดยวัคซีน 1 ขวดฉีดได้ 6 โดส หากกระจายไปหลายจุดเมื่อเปิดใช้ 1 ขวดอาจไม่ถึง 6 คน จึงต้องรวมไว้ที่โรงพยาบาลใหญ่ก่อนในช่วงแรก”

ในส่วนของวัคซีนที่ส่งไปลอตแรกประมาณร้อยละ 50-75 นั้น เนื่องจากได้สำรวจความต้องการฉีด พบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนฉีดบูสเตอร์โดสด้วยแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) แล้วกว่าร้อยละ 20 ต้องการฉีดไฟเซอร์ประมาณร้อยละ 70 ซึ่งการบริหารจัดการด้วยวิธีการทยอยส่งเป็นลอตทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด หากส่งไปทั้งหมด 100% ของจำนวนบุคลากร บางพื้นที่อาจได้เกินหรือขาด เนื่องจากมีบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้ารายใหม่ที่ยังไม่เคยฉีดมาก่อน เช่น ผู้ที่จบใหม่ หรือบุคลากรด่านหลังที่ได้รับมอบหมายมาทำงานด่านหน้า เพราะว่าในพื้นที่มีโควิดระบาดเพิ่มขึ้น เป็นต้น สามารถแจ้งมาได้ที่กรมควบคุมโรค เพื่อส่งวัคซีนให้เพิ่มเติมลอตถัดไปในสัปดาห์หน้า ยืนยันว่าจะจัดส่งครบจำนวนบุคลากรด่านหน้าตามการสำรวจเพิ่มอย่างแน่นอน



นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้น ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังอายุ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปในพื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) จำนวน 6.45 แสนโดส รวมถึงชาวต่างชาติกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนไทยเดินทางไปต่างประเทศ 1.5 แสนโดส จะทยอยส่งวัคซีนไปยังโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค.นี้ เริ่มจัดบริการได้กลางสัปดาห์ โดยจะฉีดในคนที่ยังไม่เคยได้วัคซีนโควิด-19 ตัวอื่นมาก่อน มีการติดตามอาการหลังฉีด 30 นาที, 1 วัน, 7 วัน และ 30 วัน

 


ทั้งนี้ กลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรัง แพทย์ที่รักษาจะประเมินว่าพร้อมรับวัคซีนหรือไม่ และจะติดตามอาการหลังฉีด โดยรายงานผ่านระบบหมอพร้อม ซึ่งเด็กวัยนี้ใช้แอปพลิเคชันได้ หรือให้ผู้ปกครองช่วยรายงาน หลังฉีดวัคซีนหากมีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่นหายใจไม่สะดวก สงสัยอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ให้รีบมาโรงพยาบาล เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคนี้รักษาให้หายได้

อย่างไรก็ตาม เคยมีรายงานจากสหรัฐอเมริกาที่ประชาชนฉีดวัคซีน mRNA เป็นหลักมีโอกาสพบอาการดังกล่าวได้ประมาณ 4 รายต่อล้านเข็ม โดยเฉพาะผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปี และเพศชาย ยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต ส่วนในประเทศไทยยังไม่พบอาการเหล่านี้หลังการฉีดวัคซีน

สำหรับเดือน ส.ค.นี้ จะมีวัคซีนโควิด 10 ล้านโดส ที่จะทยอยส่งสัปดาห์ละ 2 ล้านโดส โดยจะส่งไปต่างจังหวัดกว่าร้อยละ 80 จำนวนนี้ครึ่งหนึ่งจะส่งไปยัง 29 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งมีการระบาดเกิดขึ้นอยู่ โดยเน้นฉีดกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ โดยให้ฉีดเร็วที่สุดเพื่อให้ครอบคลุมร้อยละ 70

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุในช่วงท้ายว่า ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ ป้องกันตนเองสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง หากต้องไปสถานที่คนจำนวนมากอาจใส่หน้ากาก 2 ชั้น อยู่ในบ้านก็ต้องระวังผู้สูงอายุติดเชื้อจากลูกหลานที่ออกไปนอกบ้าน ดังนั้น จึงควรออกนอกบ้านให้น้อยที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงไปรับเชื้อนอกบ้านแล้วนำมาติดสมาชิกในครัวเรือน และให้พาผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนตามนัดหมายของโรงพยาบาล.











©2018 CK News. All rights reserved.