อธิการบดี มศว-มก.ยันไม่ลดค่าเทอม ร.ร.สาธิตฯ คืนเฉพาะค่าน้ำ-ไฟ-สระว่ายน้ำ อ้างรัฐเยียวยา 2 พันแล้ว


3 ส.ค. 2564, 08:16

อธิการบดี มศว-มก.ยันไม่ลดค่าเทอม ร.ร.สาธิตฯ คืนเฉพาะค่าน้ำ-ไฟ-สระว่ายน้ำ อ้างรัฐเยียวยา 2 พันแล้ว




จากกรณีที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 โดยระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกๆ สังกัด ให้จัดสรรเงินให้กับผู้ปกครองคนละ 2,000 บาท โดยคาดว่าจะจัดสรรเงินให้ผู้ปกครองได้ภายในเดือนกันยายน ส่วนนิสิต นักศึกษา ระดับมหาวิทยาลัย ให้ลดค่าเล่าเรียนตั้งแต่ 10-50% ขณะที่ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสาธิตฯ ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เรียกร้องให้โรงเรียนลดค่าเล่าเรียน เนื่องจากค่าเล่าเรียนของนักเรียนโรงเรียนสาธิตฯ หลายหมื่นบาทต่อภาคเรียน ซึ่งสูงกว่านิสิต นักศึกษา มหาวิทยาลัย อีกทั้ง ที่ผ่านมาทางโรงเรียนคืนให้เฉพาะค่าอาหาร ค่านม ค่าแอร์ ค่ากิจกรรม ฯลฯ ซึ่งจ่ายคืนแค่หลักร้อยบาท ถึงหลักพันบาทเท่านั้น



เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม นายสมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า มศว พร้อมดำเนินการปรับลดค่าเทอมนิสิต มศว ตามมติ ครม.ในส่วนของโรงเรียนสาธิต มศว นั้น ที่ผ่านมาได้ให้ผู้ปกครองกรอกแบบสอบถาม ว่าต้องการให้โรงเรียนช่วยเหลือในเรื่องใดบ้าง และได้ช่วยเหลือไปแล้วบางส่วนในวงเงินไม่เกิน 5,000 บาท และผู้ปกครองยังได้รับความช่วยเหลือตามมติ ครม.อีกรายละ 2,000 บาท ส่วนจะลดค่าเทอมได้เท่ากับระดับอุดมศึกษาหรือไม่นั้น คงไม่ได้ เพราะโรงเรียนสาธิตฯ เป็นการเรียนระดับขั้นพื้นฐาน การดำเนินการใดๆ ทั้งการจัดการศึกษา รวมถึง เรื่องความช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาด ต้องสอดคล้อง และเป็นไปตามนโยบายของ ศธ.

นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กบม.) อนุมัติให้ความช่วยเหลือนิสิต มก.ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยลดค่าธรรมเนียมการศึกษา ประจำภาคต้น ปีการศึกษา 2564 ทุกระดับตามมติ ครม.โดยสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จะได้รับส่วนลดเป็นลักษณะร่วมจ่ายระหว่างรัฐ และสถาบันอุดมศึกษาในอัตรา 6 : 4 โดยค่าเล่าเรียน/ ค่าธรรมเนียมที่ไม่เกิน 50,000 บาท ลดร้อยละ 50 ส่วนที่เกิน 50,001 – 100,000 บาท ลดเพิ่มร้อยละ 30 และส่วนที่เกิน 100,000 บาท ลดเพิ่มอีกร้อยละ 10 โดยส่วนลดสูงสุดรวมกันไม่เกินร้อยละ 50

“จากนี้ต้องรอความชัดเจนเรื่องงบจาก ครม.อีกครั้ง แต่มหาวิทยาลัยเตรียมพร้อม คำนวณตัวเลขงบที่ต้องใช้ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว หากไม่มีปัญหา และมีความชัดเจนเรื่องงบ มก.พร้อมสำรองจ่ายคืนค่าเทอมให้นิสิตได้ไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้ เพราะเข้าใจว่างบจากรัฐบาลคงต้องใช้เวลาดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งอาจใช้เวลานาน” นายจงรัก กล่าว


นายจงรักกล่าวอีกว่า ส่วนโรงเรียนสาธิตณ ทั้งระดับประถม มัธยม และหลักสูตรนานาชาตินั้น มีนโยบายให้ยกเว้นการเก็นค่าใช้จ่ายในส่วนที่นักเรียนไม่ได้ใช้จริง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสระว่ายน้ำ ฯลฯ ซึ่งลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ปกครองได้ส่วนหนึ่ง โดยโรงเรียนจะนำไปเป็นส่วนลดในเทอมถัดไป ซึ่งเหลืออีกไม่กี่เดือน ส่วนความช่วยเหลืออื่นๆ เป็นไปตามนโยบายของ ศธ.

“เท่าที่ดูสถานการณ์ คนที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่ค่อยมีโอกาสออกมาพูด อยากฝากถึงผู้ปกครอง นักเรียน และนิสิต มก.ทุกคน ผมย้ำมาตลอดว่า ทุกคนต้องได้เรียน หากใครเดือดร้อนจริงๆ ก็พร้อมผ่อนผันการเก็บค่าเล่าเรียนออกไป แต่ผมอยากช่วยคนที่เดือดร้อนจริงๆ คนที่ไม่มีรายได้ และอาจต้องออกจากระบบการศึกษา ในรูปแบบการให้งานทำ แต่มีเงินค่าตอบแทนให้ เดือนละ 5,000 บาท ซึ่งช่วยนิสิตไปแล้วจำนวนมาก” นายจงรัก กล่าว

นางวัลลา สันติภาดา ตัวแทนโรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ กล่าวว่า จากที่รัฐได้ออกมาตราช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาด โดยมาตรการที่ 1 ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ โดยให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ.ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ และไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ ในอัตรา 2,000 บาทต่อคนนั้น มองว่าเงิน 2,000 บาท อาจไม่ช่วยเหลือโรงเรียนมากนัก แต่มีผลมากในแง่ความรู้สึกของผู้ปกครอง ที่รู้สึกว่าได้รับความเท่าเทียม ความเสมอภาค และได้รับการช่วยเหลือในช่วยที่ยากลำบาก นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อโรงเรียนทางอ้อม เพราะผู้ปกครองจะได้เข้าใจโรงเรียนเอกชนที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐมากขึ้น เข้าใจว่าโรงเรียนก็เป็นผู้เสียหาย และเดือดร้อนมาก

“ส่วนมาตรการที่ 2 การขอความร่วมมือให้กลุ่มโรงเรียนเอกชนที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐ และกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ ลด หรือตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครอง ให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 นั้น ได้หารือร่วมกันว่าจะลดค่าธรรมเนียมการศึกษาให้ผู้ปกครอง และจะไม่ขึ้นค่าธรรมเนียมด้วย ที่โรงเรียนเอกชนบางส่วน ไม่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ เพราะต้องการแทนคุณแผ่นดิน ไม่ใช่เป็นคนหน้าเลือด เอาแต่ได้อย่างที่สังคมมอง ทั้งนี้ อย่าลืมว่าโรงเรียนมีบุคลากรที่ต้องรับผิดชอบ เช่น ครู แม่บ้าน ภารโรง เป็นต้น” นางวัลลา กล่าว

นางวัลลากล่าวต่อว่า ทั้งนี้ อยากให้รัฐมีกองทุนฉุกเฉินไว้ช่วยเหลือสถานศึกษาที่เดือดร้อนด้วย ส่วนที่ ศธ.เข้าหารือกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบ และนอกระบบ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนที่ดำเนินกิจการได้ด้วยการเก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่น โดยได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ให้โรงเรียนเอกชนที่เก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษา/ค่าธรรมเนียมอื่น ได้แก่ โรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุน 70% โรงเรียนเอกชนที่ไม่รับเงินอุดหนุนทั้งประเภทสามัญ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทวิชาชีพ โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทศิลปะและกีฬา โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทสร้างเสริมทักษะชีวิต สามารถเข้าสู่มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) โดยที่รัฐจะช่วยเหลือเรื่องการจ่ายดอกเบื้ย และให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันให้

“ขณะนี้ผ่านไปเกือบ 2 เดือนแล้ว แต่ทางโรงเรียนเอกชนยังไม่สามารถยื่นเรื่องขอกู้เงินได้ โดยธนาคารให้คำตอบว่า ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่มีหนังสือเป็นทางการระบุให้โรงเรียนเอกชน เป็นเสมือนธุรกิจ SME สามารถกู้เงินได้ในโครงการสินเชื่อฟื้นฟูได้ จึงอยากให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนให้สามารถกู้เงินได้โดยเร็ว” นางวัลลา กล่าว


คำที่เกี่ยวข้อง : #ร.ร.สาธิตฯ  









©2018 CK News. All rights reserved.