ผลวิจัยใหม่ชี้วัคซีน "mRNA" ช่วยสร้างภูมิกันในผู้ป่วยโรคตับแข็งได้


16 ก.ค. 2564, 07:48

ผลวิจัยใหม่ชี้วัคซีน "mRNA" ช่วยสร้างภูมิกันในผู้ป่วยโรคตับแข็งได้




สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ทีมวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ผลการวิจัยใหม่ ที่ได้ทดสอบในกลุ่มทหารผ่านศึก ที่ป่วยเป็นโรคตับแข็ง โดยพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิด mRNA เช่น ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา จะสามารถป้องกันการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ได้ในระดับสูง โดยการค้นพบล่าสุดถูกเผยแพร่ออกมาในขณะที่ หน่วยงานสาธารณสุขของสหรัฐฯ เปิดเผยถึงกลุ่มคนที่น่ากังวล 2 กลุ่ม ซึ่งอาจต้องได้รับวัคซีนกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 คือ กลุ่มอายุเกิน 75 ปี และกลุ่มที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือคนไข้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น คนไข้โรคตับแข็ง เพราะทั้ง 2 กลุ่มนี้อาจมีการตอบสนองต่อวัคซีนต่ำกว่าปกติ 



อย่างไรก็ตาม นักวิจัยในเครือของ ศูนย์การแพทย์ทหารผ่านศึก บรูซ ดับเบิลยู. คาร์เตอร์ ในไมอามี เผยแพร่ผลการศึกษาผ่านวารสารการแพทย์ ‘JAMA’ เมื่อวันอังคารที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยใช้ข้อมูลเดิมของทหารผ่านศึกซึ่งป่วยเป็นโรคตับแข็ง และได้รับวัคซีน mRNA อย่างน้อย 1 โดสจากสำนักงานจัดการสุขภาพทหารผ่านศึกจำนวน 20,037 ราย จับคู่เปรียบเทียบกับคนกลุ่มอื่นๆ อีก 20,037 ราย 

ผลการศึกษาชี้ว่า การให้วัคซีนต้านโควิด-19 ของไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา แก่ผู้ป่วยตับแข็ง สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 64.8% ลดการเข้าโรงพยาบาล หรือการเสียชีวิตที่จากโควิด-19 ได้ถึง 100% และเมื่อฉีดเข็มที่ 2 จะป้องกันการติดเชื้อได้ 78.6% แต่สำหรับผู้ที่การทำงานของตับย่ำแย่ลงมาก หรือตับแข็งแบบมีอาการแทรกซ้อน วัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันได้น้อยกว่า สำหรับผู้ป่วยที่ทีมวิจัยนำข้อมูลมาใช้ มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 69 ปี โดยมากกว่า 97% เป็นผู้ชาย, 60.6% เป็นคนผิวขาว และ 23.2% เป็นคนผิวดำ 


นอกจากนี้ รายงานยังระบุอีกว่า ผู้ป่วยตับแข็งที่ได้รับหรือไม่ได้รับวัคซีน จะมีอัตราการติดเชื้อระดับใกล้เคียงกันในช่วง 28 วันแรกหลังจากได้รับวัคซีนโดสที่ 1 แต่หลังจาก 28 วันไปแล้ว วัคซีนจึงจะเริ่มแสดงประสิทธิภาพออกมา ขณะที่ผู้ป่วยตับแข็งตอบสนองต่อวัคซีนชนิดอื่นๆ อย่างจำกัด 











©2018 CK News. All rights reserved.