เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 64 ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร รองประธานคณะที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงว่า ต้องหาวัคซีนรุ่นใหม่เพื่อให้ครอบคลุมไวรัสกลายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี แต่อยู่ในระหว่างการทำวัคซีนรุ่นใหม่อยู่ ทั้งวัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้า หรือซิโนแวค คาดว่าเร็วสุดจะเป็นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จึงเป็นเหตุผลที่ต้องคำนึงในการสั่งซื้อวัคซีนต่อไปข้างหน้า
ระหว่างที่รอ เราจึงต้องหากระบวนการบูสเตอร์ โดส (booster dose) เพื่อสร้างภูมิฯ ให้มากขึ้นในการต่อสู้เชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งไม่ได้เพิ่งเริ่ม แต่คณะกรรมฯ มีการหารือกันมา 2-3 เดือนแล้ว ในการหาเข็ม 3 หรือ การสลับฉีดไขว้เข็มที่ 1 และ 2 แต่ว่าไม่ได้มีการออกข่าวเป็นทางการ
“วัคซีนซิโนแวค หากเทียบจากภูมิต้านทานคิดว่ามันคงป้องกันเดลต้าไม่ดีแน่ แต่ซิโนแวค 2 เข็มจะป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง ต้องเข้ารพ.ป้องกันตายได้มากกว่าร้อยละ 90 เป็นข้อมูลจากหลายประเทศที่ใช้ซิโนแวค รวมทั้งข้อมูลในภูเก็ตด้วย ขณะนี้ไทยมีแอสตร้าฯ และกำลังรอวัคซีน mRNA คือ ไฟเซอร์ที่จะมา 1.5 ล้านโดส ดังนั้น กรณีบุคลากรฉีดซิโนแวคครบ 2 เข็ม การจะให้บูสเตอร์โดสต้องไปต่างชนิด จะมีชนิด mRNA ที่จะเป็นไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา แต่จะได้รับไฟเซอร์มา 1.5 ล้านโดส ก่อน ที่ประชุมคณะที่ปรึกษา ศบค. ก็ตกลงกันว่า ตอนนี้บุคลากรแพทย์ 7 แสนคน ฉีดซิโนแวค 2 เข็มครบแล้วกว่า 3-4 เดือน จะต้องบูสเตอร์ โดส หากไฟเซอร์ยังไม่มา เราจะฉีดแอสตร้าฯ”ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวและว่า ตอนนี้เลือกไฟเซอร์ เพื่อฉีดให้ประชาชนฟรี ซึ่งยังไม่ได้รับของทันที เพราะมีความต้องการสูง ดังนั้น เร็วสุดที่จะได้คือ เดือนต.ค.-ธ.ค. หรือภายในไตรมาส 4 ตามสัญญาที่ทำร่วมกับไฟเซอร์ 20 ล้านโดส โดยเมื่อมาถึงจะฉีดให้ประชาชนฟรี แต่ขอประชาชนอย่าลดเกรดของวัคซีนซิโนแวค แม้ประสิทธิภาพป้องกันน้อย แต่ลดเจ็บป่วยรุนแรง และเสียชีวิตไม่ต่างจากไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า
ขณะที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จัดหาวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ เบื้องต้น 20 ล้านโดส โดยมอบให้อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้ลงนามในสัญญา โดยให้เป็นไปตามข้อสังเกตของอัยการสูงสุด ในการไปดำเนินเจรจาหรือพูดคุยกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน และไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของสัญญาได้ เนื่องจากเป็นข้อตกลงระหว่างกรมควบคุมโรคที่จะไปหารือกับบริษัทผู้ผลิตอีกครั้ง นอกจากนั้นเห็นชอบข้อตกลงกับทางสหรัฐอเมริกา ที่จะมอบวัคซีนไฟเซอร์อีกจำนวนหนึ่งให้เป็นความช่วยเหลือกับประเทศไทย เพิ่มเติม นอกจากนี้ครม.เห็นชอบให้องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ดำเนินการจัดหาและลงนามในการจัดหาวัคซีนโมเดอร์นา เป็นวัคซีนทางเลือกที่ประชาชนจะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเอง ต่างจากวัคซีนยี่ห้อไฟเซอร์ ที่เป็นวัคซีนหลักที่รัฐต้องจัดหาและฉีดให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.อนุมัติโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับบริการประชาชนในประเทศไทยเพิ่มเติม ของซิโนแวค จำนวน 10.9 ล้านโดส กรอบวงเงิน 6,111 ล้านบาท
สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของหลายประเทศ แสดงความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ แลมบ์ด้า (Lambda variant) หรือเชื้อ ซี.37 (C.37) หลังจากพบว่าจุดที่เกิดการกลายพันธุ์ของ แลมบ์ด้า นั้นเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดความสามารถในการต้านทานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งหมด พร้อมทั้งกังวลว่า เชื้อกลายพันธุ์แลมบ์ด้า อาจแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเชื้อเดลต้าด้วยซ้ำไป
ขณะเดียวกัน กลุ่มหมอไม่ทน ขอชวนบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วประเทศ ร่วมติดโบว์ดำ สวมชุดดำ ในวันพุธที่ 7 กรกฎาคม เพื่อไว้อาลัยผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 กว่า 2,200 ราย และยื่นรายชื่อจาก change.org ต่อ ศคบ. เรียกร้องให้เปลี่ยนวัคซีนหลักเป็นวัคซีน mRNA ไปด้วยกัน “เพราะวัคซีนที่ดีที่สุด ยังไม่ใช่วัคซีนที่เรามี”#ต้องการmRNAvaccine และยื่นข้อเรียกร้องต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูลรองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรี สธ. แล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะ ผอ. ศบค.
©2018 CK News. All rights reserved.