เช็คด่วน ! "เส้นทางเลี่ยง" การชุมนุม 24 มิ.ย. นี้


24 มิ.ย. 2564, 08:25

เช็คด่วน ! "เส้นทางเลี่ยง" การชุมนุม 24 มิ.ย. นี้




วันที่ 23 มิ.ย. 64 ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องด้วยมีการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนออกมาชุมนุม โดยกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งจะจัดกิจกรรมชุมนุม ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 จำนวนหลายกลุ่ม ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1.กลุ่มราษฎร กลุ่ม WEVO และกลุ่มแนวร่วม จัดกิจกรรมแบ่งเป็น 3 ห้วงเวลา โดยกิจกรรมช่วงแรก เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 05.00 – 07.00 น. บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นกิจกรรมจุดเทียนรำลึกเหตุการณ์ อ่านแถลงการณ์,กิจกรรมช่วงที่สอง เริ่มเวลาประมาณ 10.00 น. โดยกลุ่มจะเคลื่อนขบวนออกจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ไปยังรัฐสภาเกียกกาย โดยใช้เส้นทางถนนราชดำเนินกลาง – ถนนนครสวรรค์ – ถนนพิษณุโลก – ถนนพระราม 6 – ถนนทหาร – แยกเกียกกาย – ที่หมายรัฐสภา เพื่อไปยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกิจกรรมช่วงที่สาม เริ่มเวลาประมาณ 17.00 น. บริเวณ สกายวอล์ค แยกปทุมวัน เป็นการจัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

2.กลุ่มประชาชนคนไทย โดย นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา เวลาประมาณ 14.00 น. จะรวมกลุ่มกันที่บริเวณแยกอุรุพงษ์ จากนั้นจะเคลื่อนมวลชนไปยังบริเวณทำเนียบรัฐบาล ฝั่งศาลกรมหลวงชุมพร ถนนพิษณุโลก

3.กลุ่มไทยไม่ทนฯ โดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ เวลาประมาณ 16.00 น. นัดหมายรวมตัวที่บริเวณแยกผ่านฟ้า หากมีมวลชนจำนวนมาก จะทำกิจกรรมบริเวณดังกล่าวโดยไม่มีการเคลื่อนขบวน แต่หากมีมวลชนน้อย จะเคลื่อนมวลชนไปบริเวณทำเนียบรัฐบาล ฝั่งโรงเรียนราชวินิต

ทั้งนี้ ในส่วนของเส้นทางการเคลื่อนขบวน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการประสานกับแกนนำของแต่ละกลุ่ม โดยได้เลือกเส้นทางที่ส่งผลกระทบต่อการจราจรน้อยที่สุด และสามารถดูแลความสงบเรียบร้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพ



สำหรับในการเตรียมกำลัง ร้อย คฝ. กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้เตรียมกำลังไว้ จำนวน 17 กองร้อย มอบหมายให้ พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย รอง ผบช.น. เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติในภาพรวม มีความพร้อมในการปฏิบัติ

วัตถุประสงค์ในการชี้แจง 1. เพื่อแจ้งให้ประชาชนรับทราบการจัดการชุมนุม การจัดกิจกรรม ในห้วงเวลาและสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งอาจกระทบต่อการสัญจรไปมา หรือการใช้ชีวิตโดยปกติ ประชาชนจะได้สามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีการชุมนุม การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้

2.เพื่อให้ทุกฝ่ายทราบว่า การชุมนุม การจัดกิจกรรม ต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร ได้มีการออกประกาศ ฉบับที่ 33 ควบคุมการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ดังนั้น การทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจฝ่าฝืนกฎหมาย คำสั่ง หรือประกาศที่เกี่ยวข้องได้

3.ชี้แจงแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะเน้นการรักษาความสงบเรียบร้อย การปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค สำหรับการตั้งเครื่องกีดขวาง จะไม่มีการตั้งหากไม่จำเป็น เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของพี่น้องประชาชน ยกเว้น การชุมนุมนั้นอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือสถานที่สำคัญ

4.การชุมนุม หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ หากพบว่ามีการกระทำผิด จะต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกราย สำหรับแกนนำ หรือผู้จัดกิจกรรม ที่อยู่ระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลโดยมีเงื่อนไข ก็ขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลโดยเคร่งครัด หากพบว่าบุคคลใดไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความจำเป็นที่จะต้องทำรายงานเสนอต่อศาล เพื่อให้ศาลได้พิจารณาตามกระบวนการต่อไป


ทางด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า การบริหารจัดการจราจรในการชุมนุมในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ มีหลายกลุ่มและหลายกิจกรรม อาจส่งผลกระทบต่อการจราจร โดยสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา (เกียกกาย) อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกปทุมวัน หรือสกายวอล์ก สำหรับเส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยง จุดที่ 1 อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ได้แก่ ถนนราชดำเนินกลาง และถนนตะนาว 

สำหรับเส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยง จุดที่ 2 ทำเนียบรัฐบาลแล้วเดินทางไปตามถนนราชดำเนินกลาง-ถนนนครสวรรค์-ถนนพิษณุโลก-ถนนพระราม 6-ถนนทหาร-แยกเกียกกาย-รัฐสภา ได้แก่ ถนนราชดำเนินใน ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก ถนนตะนาว ถนนดินสอ ถนนลูกหลวง ถนนประชาธิปไตย ถนนนครราชสีมา ถนนนครสวรรค์ ถนนพิษณุโลก ถนนศรีอยุธยา ถนนพระราม 5 และสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

สำหรับเส้นทางที่แนะนำให้ไปใช้ ได้แก่ (ทิศเหนือ) ถนนสุโขทัย ถนนนครชัยศรี ถนนเศรษฐศิริ ถนนอำนวยสงคราม สะพานกรุงธน (ซังฮี้) สะพานพระราม 7, (ทิศตะวันออก) ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน ถนนพระราม 6 ถนนสวรรคโลก ทางด่วนศรีรัช, (ทิศใต้) ถนนวิสุทธิกษัตริย์ ถนนหลานหลวง ถนนบำรุงเมือง ถนนวรจักร ถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช ถนนพระราม 1 ถนนพระราม 4, (ทิศตะวันตก) ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนบรมราชชนนี ถนนอรุณอมรินทร์ สะพานพระราม 8 สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานพระปกเกล้า

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมผู้ร่วมชุมนุมอาจมีการเปลี่ยนแปลง บช.น.ได้จัดเตรียมกำลังตำรวจจราจร คอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หากต้องการสอบถามข้อมูลเส้นทางเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือทางเว็บไซต์ WWW.TRAFFICPOLICE.GO.TH และสามารถดาวน์โหลดแผนที่จราจรเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางได้ที่ไลน์ "Police Traffic News"

ที่มา : กองบัญชาการตำรวจนครบาล - บช.น.


คำที่เกี่ยวข้อง : #เส้นทางเลี่ยง   #ชุมนุม 24 มิ.ย.  









©2018 CK News. All rights reserved.