11 พฤษภาคม วันปรีดี พนมยงค์ นักกฎหมายผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย


11 พ.ค. 2564, 09:53

11 พฤษภาคม วันปรีดี พนมยงค์ นักกฎหมายผู้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย




นายปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2443 (วันศุกร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 ร.ศ.119 เวลาบ่ายโมง) ณ บ้านเรือนแพ หน้าวัดพนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายเสียง และนางลูกจันทน์ พนมยงค์ และได้รับการศึกษาที่ดี หลังจากสำเร็จชั้นมัธยม 6 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้วก็เข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ประวัติการทำงานของนายปรีดี มีดังนี้

  • พ.ศ.2489 ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศไทย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม - 23 สิงหาคม 2489 รวม 152 วัน
  • พ.ศ.2490 รัชกาลที่ 8 สวรรคต เกิดความขัดแย้งทางการเมือง
  • พ.ศ.2492 นายปรีดีลี้ภัยทางการเมืองไปยังประเทศจีน
  • พ.ศ.2513 นายปรีดีต้องการเดินทางไปอยู่กับครอบครัวที่ประเทศฝรั่งเศส จึงใช้หนังสือเดินทางคนต่างด้าวที่ออกโดยทางการจีน เดินทางไปยังประเทศฝรั่งเศส ถึงกรุงปารีสในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2513 และภายหลังก็ฟ้องผู้ใส่ความและชนะทุกคดี ได้รับเงินบำนาญตามกฎหมาย และได้รับสิทธิ์หนังสือเดินทางของไทยกลับคืน
  • พ.ศ.2526 เสียชีวิตอย่างสงบบนโต๊ะทำงานที่บ้านพักประเทศฝรั่งเศส สิริอายุ 82 ปี
  • พ.ศ.2529 ครอบครัวเชิญอัฐิกลับประเทศไทย ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2529
  • พ.ศ.2543 ยูเนสโกประกาศยกย่อง นายปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2543

กิจกรรมในวันปรีดี พนมยงค์

ปาฐกถาวันปรีดี พนมยงค์ จัดโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ เป็นกิจกรรมเพื่อระลึกถึงนายปรีดี โดยเชิญนักคิด นักวิชาการ มาพูดคุยเป็นองค์ปาฐกถา ในปี พ.ศ.2564 เป็นหัวข้อ "การต่อสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ คือ การต่อสู้เพื่อความเสมอภาคของประชาชน" โดย ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ปาฐกถาที่ผ่านมา ได้แก่

  • พ.ศ.2549 (24 มิถุนายน) “ภราดรภาพนิยม (Solidarisme) ของปรีดี พนมยงค์” โดย ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
  • พ.ศ.2547 (27 มิถุนายน) ปาฐกถาพิเศษเพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านผู้ประศาสน์การ โดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
  • พ.ศ.2547 (24 มิถุนายน) “การอภิวัฒน์ 2475 กับเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมยุคใหม่” โดย อนุสรณ์ ธรรมใจ
  • พ.ศ.2541 “ธรรมรัฐกับหลัก 6 ประการของคณะราษฎร” โดย ธีรยุทธ บุญมี
  • พ.ศ.2540 โดย ประเวศ วะสี
  • พ.ศ.2539 โดย ปรีดี เกษมทรัพย์
  • พ.ศ.2531 “นโยบายต่างประเทศที่พึงปรารถนา และแนวคิดของท่านปรีดี พนมยงค์” โดย วงศ์ พลนิกร

นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมอบโล่รางวัล “ปรีดี พนมยงค์” และทุน “ปาล พนมยงค์” แก่นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ได้รับคัดเลือกในวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคม และเป็นวันแรกพบนักศึกษาใหม่ด้วย



อนุสรณ์ที่สำคัญเกี่ยวกับวันปรีดี พนมยงค์

บ้านเรือนแพจำลอง อนุสรณ์สถาน ปรีดี พนมยงค์ จ.พระนครศรีอยุธยา

มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้รับบริจาคที่ดินบริเวณเรือนแพบ้านเกิดนายปรีดี จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อสร้างอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ วางศิลาฤกษ์โดยพระราชนันทมุนี (ปัญญานันทภิกขุ) เมื่อ พ.ศ.2527 โดยผู้บริจาคเงินเพื่อซื้อเรือนแพทั้งสองหลังนั้น คือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และผู้มีจิตศรัทธา เพื่อสร้างเป็นหอสมุด พิพิธภัณฑ์ สถานที่เจริญสมณธรรม และประชุมสัมมนา ภายในที่ดินประกอบด้วย เรือนแพบ้านเกิดจำลอง และอนุสาวรีย์หลัก 6 ประการ

อนุสาวรีย์หลัก 6 ประการ

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 คณะราษฎรได้ประกาศหลัก 6 ประการ เพื่อเป็นหลักปกครองประเทศ ได้แก่ เอกราช, ความปลอดภัย, เศรษฐกิจ, เสมอภาค, เสรีภาพ และการศึกษา อนุสาวรีย์ดังกล่าวจึงสร้างด้วยเสา 6 ต้น โดยแบ่งออกเป็นฝั่งละ 3 ต้น เหนือขึ้นไปเป็นคาน และหลังคาจารึกข้อความไว้ว่า


อนุสรณ์สถานนี้
สร้างขึ้นโดยความร่วมมือร่วมใจร่วมเสียสละ
ของศิษยานุศิษย์และประชาชนชาวไทย
ผู้ระลึกถึงคุณูปการของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์
และ
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ
(วาสนมหาเถระ)
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
ได้เสด็จเปิดอนุสรณ์สถานนี้
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2529


ห้องอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ตึกโดม ม.ธรรมศาสตร์ กรุงเทพมหานคร

อนุสรณ์สถานอีกแห่งเพื่อรำลึกถึง นายปรีดี พนมยงค์ ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ จัดนิทรรศการแบ่งพื้นที่เป็น 6 ส่วน ได้แก่

  • ส่วนที่ 1 นักอุดมการณ์และนักอภิวัฒน์ประชาธิปไตย
  • ส่วนที่ 2 ชีวิตช่วงต้นและการหล่อหลอมทางสังคม
  • ส่วนที่ 3 สามัญชนผู้ยิ่งใหญ่ เล่าถึงการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองและผลงานสำคัญ
  • ส่วนที่ 4 มรสุมทางการเมือง
  • ส่วนที่ 5 ชีวิตช่วงปลาย ผู้ลี้ภัยกับการตกผลึกทางความคิด
  • ส่วนที่ 6 กอบกู้เกียรติยศแด่คนดีที่เมืองไทยไม่ต้องการ

ปรีดี พนมยงค์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

รัชกาลที่ 8 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายปรีดี พนมยงค์ เป็น "รัฐบุรุษ"​

หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านกฎหมายที่ปารีส นายปรีดี พนมยงค์ กลับมาทำงานเป็นผู้พิพากษา และเป็นอาจารย์สอนโรงเรียนกฎหมาย ภายหลังเมื่อได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ก็มีความคิดริเริ่มสร้างมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมาย ผู้สำเร็จชั้นมัธยม ข้าราชการ ทนายความ ผู้แทนตำบล และครู เข้าเรียนได้ ปีแรกที่เปิดสอนมีผู้สมัครถึง 7,094 คน

  • 27 มิถุนายน พ.ศ.2477 พิธีเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ.2476 ภายหลังที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงมีพิธีเปิดมหาวิทยาลัยในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2477 จึงถือว่าวันนี้เป็นวันก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยนายปรีดี พนมยงค์ ประกาศสุนทรพจน์ว่า "...มหาวิทยาลัยย่อมอุปมา ประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาส ที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักเสรีภาพของการศึกษา..."

  • 9 เมษายน พ.ศ.2478 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซื้อที่ท่าพระจันทร์

มหาวิทยาลัยได้ซื้อที่ดินบริเวณท่าพระจันทร์ ซึ่งมาจากการเก็บค่าสมัครเรียน และสร้างตึกโดมอันเป็นสัญลักษณ์ของปัญญาและความเฉียบแหลม

  • 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 คณะรัฐประหาร ตัดคำว่า “การเมือง” ออกจากชื่อมหาวิทยาลัย

คณะรัฐประหารในขณะนั้นยกเลิกตำแหน่ง “ผู้ประศาสน์” เปลี่ยนเป็น “อธิการบดี” เปลี่ยนหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต เป็น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2495 และตัดคำว่า “การเมือง” ออกจากชื่อของมหาวิทยาลัย

  • พ.ศ.2518 เพิ่มหลักสูตรการศึกษา มหาวิทยาลัยซื้อที่ 2,400 ไร่ ที่รังสิต

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีในขณะนั้น เห็นควรว่าจะต้องขยายพื้นที่การศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ จึงเจรจาขอซื้อที่ดินนิคมอุตสาหกรรมที่รังสิต 2,400 ไร่ เพื่อขยายมหาวิทยาลัย จึงเรียกว่า “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต” โดยดำรงความเป็นธรรมศาสตร์เช่นเดียวกับจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์

ปรีดี พนมยงค์ เสียชีวิตที่ปารีส

นายปรีดี พนมยงค์ กับโต๊ะทำงานตัวโปรด

นายปรีดี พนมยงค์ เสียชีวิตที่ปารีส บนโต๊ะทำงาน ราว 11 โมง ที่บ้านอองโตนี กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2526 ด้วยวัย 82 ปี

ก่อนเสียชีวิต นายปรีดี พนมยงค์ เขียนเอกสารถึงธนาคารเป็นภาษาฝรั่งเศส และพูดคุยกับภรรยา ก่อนจะก้มหน้าแน่นิ่งไป อนวัช ศกุนตาภัย หลานชายซึ่งกำลังศึกษาแพทย์ปี 4 ที่มาพักอาศัยอยู่บ้านอองโตนี ช่วยพยุงร่างนายปรีดีไปที่เตียงและพยายามปั๊มหัวใจ CPR และหลังจากหน่วยกู้ชีพมาถึงก็พยายามช็อตไฟฟ้าบริเวณหน้าอก แต่ก็ไม่ได้ผล

ภาพจำของผู้พบเห็นนายปรีดี พนมยงค์ มักง่วนอยู่กับการทำงานเสมอ

เมื่อแพทย์ประจำตัวมาถึงก็ยืนสงบนิ่งไว้อาลัย และกล่าวแก่บุตรเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า C'est une belle mort ! (เป็นการตายที่งดงาม)

ปัจจุบันบ้านอองโตนีที่ฝรั่งเศส ได้ขายไปแล้ว และเก้าอี้ทำงานตัวประวัติศาสตร์นี้ถูกเก็บไว้กับคุณอนวัช ศกุนตาภัย หลานชายฝั่งภรรยา ผู้ที่เคยปั๊มหัวใจคุณตาปรีดี พนมยงค์.

เรียบเรียง : สีวิกา ฉายาวรเดช
ภาพ : สถาบันปรีดี พนมยงค์

ที่มา :

  1. อนวัช ศกุนตาภัย. คุณตาปรีดีในความทรงจำ. 2564, แหล่งที่มา : https://pridi.or.th/th/content/2021/05/690. [วันที่สืบค้น 10 พฤษภาคม 2564]
  2. ดุษฎี พนมยงค์. วันที่ต้องจดจำชั่วชีวิตของลูก. 2564, แหล่งที่มา : https://pridi.or.th/th/content/2021/05/693. [วันที่สืบค้น 10 พฤษภาคม 2564]
  3. ดุษฎี พนมยงค์. กว่าจะมาเป็น อนุสรณ์สถาน ปรีดี พนมยงค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. 2563, แหล่งที่มา : https://pridi.or.th/th/content/2021/05/690. [วันที่สืบค้น 10 พฤษภาคม 2564]
  4. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ประวัติมหาวิทยาลัย, แหล่งที่มา : https://www4.tu.ac.th/index.php/th/408-th-th/teach/280-his. [วันที่สืบค้น 10 พฤษภาคม 2564]
  5. วิกิพีเดีย. ปรีดี พนมยงค์, แหล่งที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/ปรีดี_พนมยงค์. [วันที่สืบค้น 10 พฤษภาคม 2564]

คำที่เกี่ยวข้อง : #ปรีดี พนมยงค์  









©2018 CK News. All rights reserved.