เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 17 พ.ย.63 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาที่อยู่ในหมวดของความผิดฐานทำให้แท้งลูก ประกอบด้วยมาตรา 301 และมาตรา 305
ที่มาของการปรับแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพิ่มเติมครั้งนี้ มาจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ระบุว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่กำหนดให้หญิงใดทำให้ตัวเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตัวเองแท้งลูกมีความผิดทางอาญา เป็นการกำจัดสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิงเกินจำเป็น ถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ที่ว่าด้วยบุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพ ในชีวิตและร่างกาย
ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะมีผลบังคับใช้ 1 ปีนับจากวันที่มีคำวินิจฉัยออกมาโดยปริยาย หากไม่สามารถแก้ไขให้แล้วเสร็จได้ทัน เพราะฉะนั้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทำให้ทางครม.มีมติตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2563 ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญานี้ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และในวันนี้ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ได้นำร่างที่มีการปรับปรุงแก้ไขเข้ามาเสนอให้ทางครม.พิจารณา และได้ให้รวามเห็นชอบ
เหตุผลแก้ไขพ.ร.บ.เพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาความผิดฐานทำให้แท้งลูกมี 2 หลัก คือ
1. กำหนดอายุครรภ์สำหรับความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูกขนาดมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์มีความผิดและต้องรับโทษ เพื่อคุ้มครองสิทธิของหญิงตั้งครรภ์สิทธิและทารกในครรภ์ให้เกิดความสมดุลกัน หรือ ถ้าอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้โดยมีความผิด
2. เพิ่มเหตุยกเว้นฐานความผิดทำให้แท้งลูกให้ควบคุมกรณีต่างๆมากยิ่งขึ้นโดยรายละเอียดของในส่วนที่มีการปรับปรุงแก้ไขก็คือ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 301 ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์สามารถทำแท้งได้จากเดิมที่ห้ามหญิงตั้งครรภ์ทำแท้งโดยเด็ดขาด ซึ่งการกำหนดอายุครรภ์ให้ไม่เกิน 12 สัปดาห์เป็นไปตามความเห็นของแพทยสภา และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากอายุครรภ์ 12 สัปดาห์นั้นเป็นระยะเวลาที่ปลอดภัยที่สุดในการทำแท้งและไม่มีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ทำแท้งเกิดอาการแทรกซ้อนและเป็นอันตรายต่อชีวิต
นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขลดอัตราโทษให้เหมาะสมกับการที่ผู้ทำแท้งต้องได้รับความเจ็บปวดทางร่างกายอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องกำหนดโทษสูงอีก คือ มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตัวเองแท้งลูกขนาดมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมโทษที่กำหนดไว้ ว่า หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนเองแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ มีการแก้ไขมาตรา 305 เพิ่มเหตุหรือเงื่อนไขในการยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูกให้ควบคุมกรณีต่างๆมากยิ่งขึ้น รายละเอียดคือ มาตรา 305 การกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ในกรณีต่อไปนี้ถือว่าไม่มีความผิด
1. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น
2. จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากทารกคลอดออกมาจะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะได้รับผลกระทบจากความผิดปกติทางกายหรือจิตใจถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง 3. กรณีที่หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศคือกรณีที่ผู้หญิงถูกข่มขืน 4. หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์
มาตรา 301 เป็นการให้สิทธิ์กับหญิงที่อุ้มท้องอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้ ส่วนมาตรา 305 เป็นการคุ้มครองแพทย์ที่จะดำเนินการทำแท้งให้ในกรณีต่างๆ และการปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและชีวิตของทารกในครรภ์อย่างมีดุลยภาพ และเป็นการสร้างความมั่นใจต่อบุคลากรทางการแพทย์ในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์โดยสมัครใจและลดแรงจูงใจของผู้หญิงในการไปหาหมอเถื่อนเพื่อทำแท้งซึ่งผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัยต่อชีวิต ในส่วนที่กฎหมายอนุญาตให้ทำแท้งทารกในครรภ์ที่มีความเสี่ยงที่จะคลอดออกมาและมีความพิการในเรื่องนี้จะช่วยลดภาวะความตึงเครียดให้กับครอบครัวที่มีความไม่พร้อมในการเลี้ยงดูบุตรที่มีสภาพพิการ
อย่างไรก็ตาม ทางครม.จะส่งร่างพ.ร.บ.แก้ไขฉบับนี้ ไปยังคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรรับไปพิจารณาโดยด่วน เพื่อให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ก่อนวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เพราะตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าถ้าแก้กฎหมายเสร็จไม่ทันภายใน 1 ปีกฎหมายอาญาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนี้จะสิ้นผลบังคับใช้โดยปริยายเพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่ทางสภาจะต้องรับเรื่องนี้และดำเนินการให้มีผลบังคับใช้โดยด่วน
©2018 CK News. All rights reserved.