แม่ทัพภาคที่ 4 แถลงผลปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้ เดินหน้ารุกต่อเนื่อง ใช้มาตรการยึดทรัพย์ผู้ค้า พร้อมสร้างชุมชนเข้มแข็ง


19 ธ.ค. 2561, 13:56

แม่ทัพภาคที่ 4 แถลงผลปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้  เดินหน้ารุกต่อเนื่อง ใช้มาตรการยึดทรัพย์ผู้ค้า พร้อมสร้างชุมชนเข้มแข็ง




วันนี้ (19 ธ.ค. 2561) ที่ ค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 แถลงผลการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้ ภายหลังเปิดปฏิบัติการมา 1 เดือน 15 วัน โดยมี นายไกรสร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายสุรพล ภัทรปกรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 นายพีระ กาญจนพงศ์ ผู้อำนวยการ ป.ป.ส.ภาค 8 พลตรี กฤษฎา พงษ์สามารถ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 5 และ พลตำรวจโท รณศิลป์ ภู่สาระ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลง


พลโท พรศักดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ปัญหายาเสพติด มีความซับซ้อน และเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับปัญหาความมั่นคง การการแพร่ระบาดของยาเสพติด มีแนวโน้มที่มีความรุนแรง และเป็นปัญหาที่ประชาชนต้องการให้รัฐแก้ไขเป็นอันดับแรก เพราะเป็นทุกข์ของประชาชน ประกอบกับรัฐบาลได้กำหนดนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พ.ศ. ?2558 - 2562? โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า “สังคมไทย เข้มแข็ง และรอดพ้นจากยาเสพติด ด้วยภูมิคุ้มกัน และมาตรการลดผู้ค้า ผู้เสพ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้านยาเสพติด บรรลุตามพันธกรณี และวิสัยทัศน์อาเซียน ภายในปี 2562” การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงเป็นภารกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดในชุมชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 จึงได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมอำเภอ เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ทั้งการป้องกัน การสกัดกั้นการปราบปรามและการบำบัดรักษา ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตลอดจนเดินสายสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และประชาชน ให้รับทราบแนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อดับทุกข์ให้กับพี่น้องประชาชนให้หมดสิ้นไป 



โดยตั้งเป้าหมายปฏิบัติการไว้ 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 จนถึง31 มกราคม 2562 ด้วยการดำเนินการให้ครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการป้องกัน มุ่งเน้นสร้างภูมิคุ้มกันและภูมิป้องกันยาเสพติดให้ครอบคลุม 5 กลุ่มเป้าหมาย คือ หมู่บ้าน/ชุมชน ในสถานศึกษา นอกสถานศึกษา โดยใช้แนวทางการสร้างชุมชนเข้มแข็ง และจิตอาสาญาลันนันบารูเข้าดำเนินการ ณ ขณะนี้ สามารถฝึกอบรมและจัดตั้งกลุ่มพลังจิตอาสาประชารัฐได้แล้ว 9,818 คน

นอกจากนี้ยังได้ขับเคลื่อนงานสร้างภูมิคุ้มกันผ่านมวลชนญาลันนันบารู และญาลันนันบารูจูเนียร์ที่ผ่านการฝึกอบรม และจัดตั้งแล้วกล่าว 20,000 คน และยังมี โครงการ รด. จิตอาสาต้านภัยยาเสพติดทุกสถานศึกษา มียอดกว่า 30,000 คน , ด้านการสกัดกั้นและปราบปราม ได้เน้นให้มีการตั้งด่านตรวจและจุดสกัดตามเส้นทางในพื้นที่ และบริเวณแนวชายแดน เพื่อป้องกันการลักลอบลำเลียงยาเสพติดเข้ามาแพร่กระจายในพื้นที่

พร้อมมุ่งเน้นทำลายโครงสร้างเครือข่ายยาเสพติดในพื้นที่และใช้มาตรการทางกฎหมายต่อกลุ่มผู้ค้ายาในระดับต่าง ๆ ที่เป็นวงจรนำยาเสพติดเข้าสู่ชุมชนตามบัญชีเป้าหมาย โดยมอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และภาค 9 เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดกำลังเข้าสกัดกั้น และปราบปรามร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 8 และภาค 9 และหน่วยที่เกี่ยวข้อง


โดยให้หน่วยประจำพื้นที่เป็นกำลังเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยผลการปฏิบัติ ตั้งแต่ 1 พ.ย. จนถึง 15 ธ.ค. 2561 สามารถตรวจยึดของกลางยาเสพติดและจับกุมผู้ต้องหาได้ดังนี้ ยาบ้า จำนวน 10,801,718 เม็ด , ไอซ์ จำนวน 47 กิโลกรัม , เฮโรอีน จำนวน 298 กิโลกรัม , กัญชา จำนวน 30 กิโลกรัม , พืชใบกระท่อม จำนวน 1,000 กิโลกรัม , ผู้ต้องหา จำนวน 419 ราย , ด้านการบำบัดรักษา จะดำเนินการคัดกรองผู้เสพเข้ากระบวนการคัดกนองเพื่อแยกผู้เสพ และผู้ติดยา ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้ากระบวนการคัดกรองแล้วกว่า 33,500 คน เข้าบำบัดแล้ว 4,349 คน และจะมุ่งเน้นใช้มาตรการทางสังคมภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยปัจจุบันได้จัดเตรียมสถานที่รองรับ ผู้เข้ารับการบำบัด จำนวน 29 แห่ง สามารถรองรับได้กว่า 2,200 คน

นอกจากนี้ยังมีสถานที่บำบัดฟื้นฟู ด้วยหลักศาสนาอิสลามที่ปอเนาะญาลันนันบารู บ้านเกาะแลหนัง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นสถานที่บำบัดด้วยความสมัครใจ และผ่านกระบวนการชุมชนโดยจิตอาสาญาลันนันบารู สามารถรองรับได้กว่า 1,000 คน โดยผู้ที่จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดจะต้องผ่านการประเมินเบื้องต้นจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลก่อนเข้าสู่ ศูนย์คัดกรองระดับอำเภอ เพื่อคัดแยกและลงทะเบียนเข้าสู่กระบวนการบำบัดตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข

โดยแบ่งตามระดับความรุนแรงของอาการได้ 4 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มผู้ใช้จะบำบัดด้วยโปรแกรมบำบัดเบื้องต้น และส่งตัวเข้าฝึกอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พัฒนาทักษะชีวิต ณ ศูนย์วิวัฒน์พลเมือง หรือค่ายฝึกอบรมตามที่กำหนด , กลุ่มผู้เสพ ส่งเข้าบำบัดที่โรงพยาบาลชุมชน หรือสถานที่บำบัดที่กำหนดโดยใช้เวลา 12 วัน , กลุ่มผู้ติด ส่งเข้าบำบัดที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลศูนย์ในพื้นที่ , กลุ่มผู้ป่วยซ้ำซ้อนส่งเข้าบำบัดที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี , โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลจิตเวชสงขลาราชนครินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายต่อไป


คำที่เกี่ยวข้อง : #แม่ทัพภาคที่ 4  









©2018 CK News. All rights reserved.