หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา ตอบคำถาม 10 ข้อเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19


21 มี.ค. 2563, 14:09

หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา ตอบคำถาม 10 ข้อเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19




จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด -19 มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไขข้อสงสัยต่าง ๆ ดังนี้

Q : เดินสวนกับ ผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสติดโรคไหม ?
A : โควิด-19 ทุกคนสามารถติดต่อทุกคน ทุกคนสามารถติดโรคได้เท่ากัน การเดินสวนกันไปมา ไม่ติดโรค เพราะจริงๆแล้ว โรคนี้ติดทางฝอยละออง ถ้าไม่มีการไอจามออกมา โอกาสที่จะติด น้อยมาก โดยทั่วไปการพูดคุยกัน ถ้าอยู่ในรัศมี 1 เมตร แล้วคนพูดพูดเสียงดัง โอกาสที่ฝอยละอองจะมาถึงคู่สนทนาก็มีความเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น เราจึงกำหนดระยะห่างว่า ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้มีระยะห่างอย่างน้อย 6 ฟุต หรือ 2 เมตร ในช่วงที่มีการระบาดของโรค เราจะเห็นได้ว่า ขณะนี้ ในประเทศจีน แม้กระทั่งการยืนเข้าคิว ยังมีการกำหนดระยะห่าง เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค



Q : จับของที่ส่งมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 ไหม ?
A : การจับต้องสิ่งของโดยทั่วไป ที่ส่งมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ไม่ทำให้ติดโรคได้ อย่างไรก็ตามขอให้ทุกคนหมั่นล้างมือ ก่อนที่จะจับต้องใบหน้า ไม่ว่าจะสัมผัสที่ตา จมูก หรือปาก

Q : ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาหรือไม่?
A : โดยปกติหน้ากากอนามัย เราจะใส่ไว้ให้กับคนป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ในกรณีที่คนปกติ ถ้าไปในที่ชุมชนหรือมีคนจำนวนมาก อย่างเช่น ในรถไฟฟ้า รถเมล์ หรือไปในงานที่มีคนเยอะๆ การใส่หน้ากากอนามัยป้องกันก็ถือว่ามีเหตุผล
 
Q : ในปัจจุบันมียาและวัคซีนสำหรับป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือยัง ?
A : ในปัจจุบันเรารู้ว่าโรคนี้ระบาดมากในประเทศจีน ก็ได้มีการศึกษาวิจัย และใช้ยาในการรักษา ขณะนี้ก็เริ่มมีข้อมูลออกมาแล้วด้วยว่าจะมียาที่ใช้ต้านไวรัส หรือลดการติดเชื้อของไวรัสได้
ส่วนเรื่องของวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันเมื่อเกิดโรคระบาด นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ก็ร่วมมือกันในการพัฒนาวัคซีน แต่การพัฒนาวัคซีนอาจต้องใช้เวลามากกว่าการที่จะหายามารักษา เพราะฉะนั้นช่วงนี้ควรอดใจรอสำหรับวัคซีน

Q : ผู้สูงอายุมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป จริงหรือไม่ ?
A : โควิด-19 สามารถติดต่อได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้เท่ากัน เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ คนเราทุกคนจะยังไม่มีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ จึงมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้เท่ากัน ว่าจะร่างกายแข็งแรง จะเป็นเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ มีโอกาสติดโรคได้เท่ากัน แต่ความรุนแรงของโรคอาจจะแตกต่างกัน คนที่มีร่างกายแข็งแรงดีหรืออายุน้อย ความรุนแรงของโรคจะน้อยกว่าผู้ที่มีอายุมาก หรือมีโรคประจำตัวร่วมด้วย

Q : ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระยะฟักตัว สามารถแพร่เชื้อได้หรือไม่ ?
A : จากข้อมูลการศึกษาในปัจจุบันที่มีมาแล้วเป็นจำนวนมาก โรคติดเชื้อโควิด-19 มีระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ 1-14 วัน โดยมาตรฐานทั่วไป เราจะให้คนที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เก็บตัวอยู่ที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน แต่ในขณะนี้เริ่มมีข้อมูลออกมาว่าผู้ป่วยในระยะฟักตัวระยะท้ายๆ อาจจะติดโรคไปยังผู้อื่นได้ อย่างไรก็ตามถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการ โอกาสที่มีไอจามและมีฝอยละอองออกมามีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยกว่าผู้ที่มีอาการ ดังนั้นถ้าคนที่ไม่ไอหรือจาม โอกาสที่จะแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นจะมีน้อยมาก อย่างไรก็ตามในกลุ่มเสี่ยงที่มาจากแหล่งระบาดของโรค ก็อยากจะให้เก็บตัวไว้อยู่ที่บ้าน ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคในกรณีที่เป็นโรค และควรกำหนดระยะห่างของบุคคล ระยะห่างกับคนในบ้าน ไม่ไปคลุกคลีหรือไม่ไปสัมผัส หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน

Q : ผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 หายแล้ว จะกลับมาเป็นอีกได้หรือไม่ ?
A : มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะเป็นโรคนี้ซ้ำอีกได้หรือไม่นั้น ในปัจจุบันข้อมูลที่เราเห็นส่วนใหญ่มาจากการติดตามผลแค่เพียง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่โดยหลักการทางไวรัสวิทยา ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสแล้ว ควรจะมีภูมิต้านทานที่ใช้ในการป้องกันไม่ให้โรคนี้กลับมาเป็นใหม่ได้ ต้องมีการศึกษาในระยะต่อไปว่าตัวไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม เราจึงเห็นว่าผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ เมื่อหายแล้ว สามารถกลับมาเป็นแล้วเป็นอีกได้ เนื่องจากสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกปี แต่สำหรับโควิด-19 ขณะนี้เรายังไม่เห็นพฤติกรรมของไวรัสนี้เป็นแบบไข้หวัดใหญ่


Q : เชื้อโควิด-19 ติดจากคนสู่สัตว์และติดจากสัตว์สู่คนได้หรือไม่ ?
A : สัตว์เลี้ยงที่เราเลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าสัตว์เลี้ยงจะติดเชื้อโควิด-19 จากคนได้ หรือเป็นพาหะของโรค เป็นตัวแพร่กระจายเชื้อโรค ถึงแม้ว่าจะมีรายงานว่าพบเชื้อที่สุนัข ในประเทศฮ่องกง แต่เป็นการพบแค่ตัวเดียว การพบนั้นก็มีปริมาณไวรัสค่อนข้างต่ำ แต่ต้องหาหลักฐานต่อไปว่าสุนัขตัวนั้นติดเชื้อหรือเป็นการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสเข้าสู่ตัวสุนัข

Q : เชื้อไวรัสโควิด-19 ทนอากาศร้อนในไทยไม่ได้จริงหรือไม่ ?
A : โดยทั่วไปแล้วเชื้อไวรัสจะทนอากาศร้อนได้ไม่ดี หรือพูดง่ายๆ ว่าจะตายง่ายในสภาวะอากาศร้อน มากกว่าในสภาพอากาศชื้นหรือเย็น ก็เป็นความโชคดีของไทย เพราะว่าโรคติดต่อทางเดินหายใจในบ้านเราจะพบน้อยในฤดูร้อน แล้วจะไปเริ่มพบมากขึ้นในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นต้นไป

Q : อยากฝากอะไรถึงคนไทย ในสถานการณ์การแพร่เชื้อโควิด-19 ช่วงนี้ ?
A : มีสื่อ Social media ออกมาค่อนข้างมาก มีผลทำให้ผู้เสพสื่อรู้สึกเหมือนกับว่าเรากำลังอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดที่น่ากลัว แล้วบางครั้งก็จะทำให้จิตใจของเรามีความกังวล นอนไม่หลับ มีความตื่นตัวตลอดเวลา ในกรณีพวกนี้ก็อาจจะมีความกระทบทางจิตใจเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการเสพสื่อทั้งหลายจะต้องมีสติ และแยกแยะให้ได้ว่า สิ่งไหนเป็นความรู้ สิ่งไหนเป็นความเห็น เราควรศึกษา รับฟัง นำความรู้นั้น มาใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันในขณะนี้ย่อมดีที่สุด











©2018 CK News. All rights reserved.