สธ.ยันไทยยังไม่พบโควิด-19 ในสุนัข


1 มี.ค. 2563, 14:59

สธ.ยันไทยยังไม่พบโควิด-19 ในสุนัข




วันที่ 1 มี.ค. 63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง 2 รายนั้น รายที่เป็นชายไทยอายุ 35 ปี ที่มีการใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของปอด (เอคโม) ผู้ป่วยรายนี้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก เข้ารับการรักษาที่ รพ.เอกชน แต่ต่อมาพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ร่วมด้วย จึงส่งต่อมารักษาที่สถาบันบำราศนราดูร

 

โดยให้การรักษาในหลายวิธี ทั้งการให้ยาต้านไวรัส การให้แอนติบอดีของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว จนผู้ป่วยรายนี้ไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.2563 แต่ด้วยสภาพปอดที่เสื่อม หัวใจและอวัยวะภายในทำงานหนัก ทำให้อวัยวะภายในหลายระบบล้มเหลว จึงเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากตรวจไม่พบเชื้อแล้ว สาเหตุการเสียชีวิตจะเกี่ยวกับโรคโควิด-19 หรือไม่ จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติต่อไป สำหรับอัตราการเสียชีวิต 1 ราย จากผู้ป่วย 42 ราย ก็อยู่ที่ประมาณ 2% ส่วนรักษาหาย 30 ราย ก็อยู่ประมาณ 75%

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ส่วนอีกรายอายุ 70 กว่าปี มีวัณโรคร่วม ตรวจไม่พบเชื้อแล้ว 1 สัปดาห์เช่นกัน แต่ยังอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ยังมีผู้รักษาหายเพิ่มอีก 2 ราย เป็นชายชาวจีนอายุ 33 ปี รายที่ 2 เป็นเด็กหญิงไทยอายุ 3 ขวบ ทั้งคู่อยูสถาบันบำราศนราดูร ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมรวม 42 ราย รักษาหาย 30 ราย อยู่รักษาที่ รพ. 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย



สำหรับการประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 29 ก.พ.ที่ผ่าน ดังนั้น วันที่ 1 มี.ค. จึงมีผลบังคับใช้แล้ว ดังนั้น หากพบผู้ป่วยหรือผู้ต้องสงสัยว่าป่วยโรคโควิด-19 เจ้าของสถานที่ต่างๆ เช่น เจ้าบ้าน สถานประกอบการ โรงพยาบาลต่างๆ จะต้องรายงานภายใน 3 ชั่วโมง หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท สำหรับหน้ากากอนามัยที่จะแจกในวันที่ 2 มี.ค.นี้ เป็นหน้ากากอนามัยที่ได้รับการสนุนจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อบริจาคให้ประชาชน ซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่จัดสรรให้กับสถานพยาบาล เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเรามีแผนการจัดสรรที่ชัดเจนอยู่แล้ว

 

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ยืนยันว่าโรคนี้ป้องกันได้ พื้นฐานคือกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ หากป่วยสวมหน้ากากอนามัย และเลี่ยงการไปอยู่ในพื้นที่คนหมู่มาก ไปพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยง เช่น ประเทศที่มีความเสี่ยง ซึ่งขณะนี้ก็ยังมีคนไปอยู่เรื่อยๆ แล้วกลับมา แต่ละคนอาจต้องมีความรับผิดชอบ ไปแล้วกลับมาแล้วมีโอกาสเป็น หรือการจัดประชุมต่างๆ ก็อาจควรเลื่อน เลี่ยงไปก่อน หากจัดก็ต้องจัดอย่างมีความรับผิดชอบ มีแนวทางป้องกันตามมาตรฐาน คนป่วยต้องไม่ไปร่วมกิจกรรม ถ้าเราทำเคร่งครัดเช่นนี้ และไม่ตีตราคนเสี่ยง ไวรัสโคโรนา 2019 ป้องกันได้แน่นอน

 

ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ผู้ป่วยมารับการตรวจรักษาด้วยอาการของไข้เลือดออกตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2563 ที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง แต่ภายหลังเมื่อตรวจพบว่ามีโรคโควิด-19 ด้วย จึงส่งมารับการรักาษที่สถาบันบราศนราดูรวันที่ 5 ก.พ. 2563 เรียกว่ารักษามาประมาณ 1 เดือน อยู่ในการดูแลของแพทย์มาตลอด โดยเราให้ยาต้านไวรัสที่ดีที่สุดที่ได้รับการพิสูจน์ว่า ได้ผลที่ดีที่จีน

 

รวมถึงการใช้แอนติบอดีจากน้ำเหลืองของคนขับแท็กซี่ที่รักษาหายแล้ว แม้จะมีการรักษาที่ดีที่สุด แต่การเสียชีวิตก็เกิดขึ้นได้ จึงถือเป้นการเสียชีวิตรายแรกของประเทศไทย แต่เป็นประเทศที่ 10 ซึ่งก่อนหน้านี้มีประเทศที่เสียชีวิต คือ จีน (รวมฮ่องกง ไต้หวัน) ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย

 

เมื่อถามถึงผู้เสียชีวิตมีอาการปอดเสียหายมาตั้งแต่แรกหรือไม่ และการที่ปอดเสียหายเกิดจากการที่มีโรคไข้เลือดออกร่วมด้วยหรือไม่ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิตรายนี้ มารับการรักษาครั้งแรกที่ รพ.เอกชนด้วยอาการไข้อย่างเดียว ซึ่งตรวจพบเชื้อไข้เลือดออก เพราะโรคไข้เลือดออกจะมีอาการไข้อย่างเดียว ไม่มีอาการหวัด ก็ทำการรักษา แต่ภายหลังพบว่าเริ่มมีอาการหวัดด้วย จึงทำการซักประวัติและพบว่า มีการทำงานใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวชาวจีน จึงทำการตรวจและพบว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงส่งต่อมารักษา

 

นพ.ทวี กล่าวอีกว่า ดังนั้น ผู้ป่วยรายนี้จึงมีการป่วยใน 2 ช่วง ส่วนที่มีอาการรุนแรงทำให้ปอดเสียหายนั้น ต้องทำความเข้าใจว่า ไข้เลือดออกไม่ใช่โรคของปอด ไม่ใช่เชื้อที่จะลงไปที่ปอด อาจจะไม่เกี่ยวกัน แต่การที่เป็นไข้เลือดออกทำให้ร่างกายอ่อนล้ามาก เวลามีเชื้อมาอีกตัว ซึ่งการมี 2 โรคย่อมรุนแรงกว่าการมีโรคเดียว ดังนั้น โรคโควิด-19 ซึ่งเชื้อจะมุ่งลงไปที่ปอดและก่อความรุนแรง แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะลงไปเป็นปอดอักเสบหรือปอดบวมเสมอไป เพราะ 80% ไม่ลงปอดเป็นไข้หวัดธรรมดา โดยมีประมาณ 15-20% ที่ลงไปที่ปอด โดยการลงไปที่ปอดจะอยู่ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 หลังรับเชื้อ แต่ลงไปแล้วจะเป็นปอดอักเสบรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นกับร่างกายของแต่ละคนที่จะต่อสู้กับเชื้อได้

 

นพ.ทวี กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้ได้รับน้ำเหลืองที่มีแอนติบอดีจากคนขับแท็กซี่ ซึ่งพบว่ามีภูมิค่อนข้างสูง และคนป่วยรายนี้ก็มีภูมิสูงด้วย ซึ่งจากการรักษาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้หมดไปแล้ว แต่ได้ทิ้งร่องรอยของการทำลายไว้เยอะมาก จึงต้องพยุงด้วยเครื่องเอคโมหรือปอดเทียม เพื่อให้อวัยวะได้ฟื้นตัว ซึ่งจะฟื้นได้หรือไม่ได้ก็ขึ้นกับสภาพร่างกาย แต่อย่างที่บอกว่าผู้ป่วยรายนี้มีไข้เลือดออกมาก่อนหน้านี้ ทำให้ค่อนข้างมีอาการหนัก เพราะร่างกายอ่อนแอมาตั้งแต่แรก ทำให้มีอาการปอดอักเสบรุนแรงและปอดเสียหาย แม้รักษาจนเชื้อหมดไป แต่ก็ต้องใช้เครื่องเอคโมทำงานแทน เพื่อให้รอการฟื้นตัว ซึ่งเราก็ได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว ขณะที่ผู้ป่วยที่มีวัณโรคร่วม แม้วัณโรคจะก่อปัญหาที่ปอดเช่นกัน และรายนี้ตอนแรกเราก็ค่อนข้างกังวล แต่กลับพบว่า สภาพปอดไม่ได้เสียหายหนักเหมือนรายนี้ ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีการนำมาถอดบทเรียนต่อไป สำหรับเรื่องของร่างผู้เสียชีวิตไม่ต้องกังวล เพราะรักษาจนไม่มีเชื้อแล้ว และย้ำว่าศพไอไม่ได้ ก็ไม่แพร่เชื้อ


สพญ.พรทิพภา เล็กเจริญสุข อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวการพบสุนัขที่จีนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า เรื่องนี้เป็นข่าวจากฮ่องกง ซึ่งทราบดีว่าขณะนี้ฮ่องกงมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในระยะ 3 แล้ว และสุนัขอยู่กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 จึงพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในสุนัขที่เลี้ยงอยู่ โดยปริมาณที่พบต่ำมาก เทียบเท่ากับที่พบตามลูกบิดประตู หรือพื้นผิวต่างๆ

 

เพราะฉะนั้น ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าสุนัขตัวนี้มีการติดเชื้อ เชื้อที่พบยังไม่ทราบอาจเป็นแค่การปนเปื้อนจากที่สุนัขคลุกคลีกับผู้ป่วย และเลียมือหรือเสื้อผ้าผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่ แต่เนื่องจากสุนัขเองเป็นสัตว์ที่ไม่ได้สะอาดเหมือนเรา จึงเป็นข้อปฏิบัติที่ดีที่ควรปฏิบัติตามสุขลักษณะ ก่อนที่จะสัมผัสหรือหลังสัมผัสสุนัขควรล้างมือให้สะอาด เป็นสิ่งที่ควรจะทำ และสุนัขของเราเองก็ควรทำให้เขาสะอาดด้วย

 

สพญ.พรทิพภา กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่พบรายงานในเรื่องนี้ แต่สมมติว่า ผู้ป่วยที่มีเชื้อและมีสุนัขอยู่ที่บ้านจะทำอย่างไร ผู้ป่วยต้องแยกตัวเองออกจากสุนัขอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่กลับจากประเทศที่เสี่ยง ก็ไม่ควรคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง ควรจะแยกตัวเองจากสัตว์เลี้ยงเหมือนกับแยกจากสมาชิกคนอื่นในครอบครัว เพื่อป้องกันไม่ให้เราไปแพร่เชื้อให้สุนัข ซึ่งไม่ได้หมายความว่าสุนัขจะติดเชื้อ แต่คือลดโอกาสไม่ให้เชื้อไปติดตามตัวสุนัข

 

ปัจจุบันความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อระหว่างสุนัขสัตว์เลี้ยงกับคนเรื่องโควิด-19 ยังไม่มีข้อมูล ก็ต้องปฏิบัติเพื่อป้องกัน ส่วนคลินิกที่รับฝากสุนัขอาจจะต้องมีการซักประวัติว่าสุนัขที่นำมาฝาก เจ้าของได้ไปประเทศกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ถ้าไปก็ต้องงดที่จะรับฝาก ส่วนสุนัขเองถ้าเจ้าของกลับจากประเทศเสี่ยงควรแยกตัวเองจากสุนัขอยู่แล้ว


คำที่เกี่ยวข้อง : #สธ.   #โควิด-19   #โคโรนา   #สุนัข  









©2018 CK News. All rights reserved.