แพทย์จุฬาฯ ไขกระจ่าง การใช้หน้ากากอนามัย 2 แบบ ให้ถูกต้อง


10 ก.พ. 2563, 10:55

แพทย์จุฬาฯ ไขกระจ่าง การใช้หน้ากากอนามัย 2 แบบ ให้ถูกต้อง




ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์ เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้หน้ากากอนามัย 2 ประเภท ได้แก่ แบบสายคาด และแบบ N95 โดยระบุว่า โดยทั่วไปถ้าประเทศไทยยังไม่เป็นแหล่งระบาด ของโรคปอดบวมโคโรนาไวรัส เราจะแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยแบบสายคาด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อโรค 

ทุกคนจะต้องช่วยกัน หรือถ้าเป็นคนปกติ ที่เข้าแหล่งชุมชน เช่นในรถเมล์ รถไฟฟ้า ที่มีคนหนาแน่น รวมทั้งผู้ขับรถโดยสาร เข้าโรงพยาบาล คลินิก ที่มีโอกาสจะสัมผัสกับผู้ป่วยได้ หรือ สถานที่คิดว่าจะเสี่ยงต่อการติดโรค

เมื่อใส่หน้ากากอนามัยแล้ว จะต้องปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดในเรื่องของการล้างมือ จะไม่เอามือที่ยังไม่ได้ทำความสะอาด มาจับบนหน้ากากอนามัย ก่อนจับ ถ้าไม่ล้างมือ ก็ใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาดก่อน ในยามที่ยังไม่มีโรคระบาด คนปกติโดยทั่วไปที่ไม่ได้ไปแหล่งชุมชนหนาแน่น ไม่จำเป็นต้องใส่ หรือใครจะใส่ก็ไม่ว่า แต่จะต้องปฏิบัติตัว กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ อย่างเคร่งครัด
 



ส่วนหน้ากาก N95 ไว้ป้องกันตัวเราไม่ให้ได้รับ เชื้อโรค การใส่เพื่อป้องกัน จะใช้ในบุคลากรทางการแพทย์ หรือ ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และจะต้องใส่และปฏิบัติ การตรวจสอบอย่างเคร่งครัด ในยามปกติ ยังไม่มีการระบาดของโรค หน้ากาก N95 ควรเก็บไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น และจะต้องมี stock ไว้ให้พอเพียง ถ้ามีการระบาดเกิดขึ้น โดยเฉพาะการระบาดเป็นวงกว้าง จะต้องมีความจำเป็น ที่ต้องใช้เป็นจำนวนมาก รวมทั้งชุดป้องกัน PPE

หน้ากากอนามัยแบบสายคาด ผลิตได้วันละ 1 ถึง 1.4 ล้านชิ้น ถ้าใช้แบบมีเหตุผล เชื่อว่าจะเพียงพอสำหรับทุกท่าน การใช้หน้ากากผ้า แล้วซักตากแดด แดด ยูวี สามารถฆ่าเชื้อได้ สามารถใช้แล้วใช้ได้อีก ถ้าทุกคนมีเหตุผล เชื่อว่าเราจะผ่านวิกฤตไปได้อย่างแน่นอน


 












©2018 CK News. All rights reserved.