เตือนระวัง ! เจอ "ฝีในตับหมู" เช็คให้ดีก่อนซื้อมาปรุงอาหาร


9 ม.ค. 2563, 13:52

เตือนระวัง ! เจอ "ฝีในตับหมู" เช็คให้ดีก่อนซื้อมาปรุงอาหาร




นับว่าเป็นเรื่องราวที่ชาวเน็ตให้ความสนใจอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อผู้ใช้เฟสบุ๊คที่มีชื่อว่า Apichai Tuanyok ได้ออกมาโพสต์เตือนเกี่ยวกับการบริโภคเครื่องในหมู โดยระบุข้อความว่า "ช่วงนี้อยากให้ทุกคนระมัดระวังเรื่องการบริโภคเครื่องในสัตว์ (หมู) กันสักพักนะครับ วันนี้ก็เจอตับหมูเป็นฝีอีก สัปดาห์ก่อนทีมงานไปเจอที่เขียงหมู ตลาดคลองเรียน หาดใหญ่ และก็ทำการตรวจด้วยการเพาะเชื้อแล้วก็พบว่าเป็นฝีจากเชื้อเมลิออยด์ 

ผมเห็นเชื้อด้วยตัวเองวันนี้ ยืนยันได้ว่าเป็นเชื้อโรคเมลิออยด์จริงๆ แต่ฝีที่เจอในตับหมูวันนี้ ก็ต้องรอผลตรวจอีกครับ ถ้าเพื่อนๆคนใดที่สงขลา เจอเครื่องในหมู ทั้งปอด ตับ ม้าม ไต ที่เป็นฝีคล้ายในรูปนี้ จะให้ทางทีมวิจัยเราช่วยตรวจ ก็ติดต่อผ่านผมได้ครับ ผมไม่อยากให้โรคนี้เข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของคน กลัวมันจะติดต่อสู่คน ... อยากบอกว่าหลายๆเขียงหมูที่ขายกันในตลาด บางทีเป็นหมูที่ไม่ได้ผ่านการตรวจโรคจากโรงฆ่าสัตว์นะครับ ระมัดระวังกันนิดนึง



ทั้งนี้ โรคเมลิออยโดสิส หรือ โรคมงคล่อเทียม เป็นโรคที่พบในสัตว์หลายชนิด ที่พบบ่อยคือ สุกร แพะ แกะ นอกจากนี้ยังพบในโค กระบือ ม้า สุนัข แมว สัตว์ฟันแทะ สัตว์ป่าหลายชนิด โรคนี้สามารถติดต่อมายังคนได้ พบในทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและระบาดมากในช่วงฤดูฝน ในประเทศไทยพบผู้ป่วยได้ทุกภาคทั่วประเทศ แต่พบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดขอนแก่น และอุบลราชธานี อุบัติการณ์ของโรคมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉลี่ย 4.4 ต่อ 100,000 คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวนาหรือผู้ที่ทำงานกับดิน และน้ำ พบผู้ป่วยมากในฤดูฝน คาดว่าจะมีผู้ป่วยมากกว่าปีละ 2,500 รายในประเทศไทย แต่ขาดการศึกษายืนยัน และไม่มีการรายงานในผู้ป่วยส่วนมาก 


จากการสำรวจระดับแอนติบอดีต่อเชื้อของคนปกติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบมีการติดเชื้อประมาณร้อยละ 25 จากการพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้มีอาการหลายรูปแบบ ที่อาจคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ เช่น มาลาเรีย วัณโรค จึงได้ชื่อว่า “ยอดนักเลียนแบบ” เชื้อโรคชนิดนี้มีความพิเศษตรงที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองโดยหลบหลีกระบบการตรวจสอบสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย ทำให้สามารถหลบซ่อนอยู่ในร่างกายของเราได้นาน 20-30 ปี แต่ทั้งนี้ระยะฟักตัวอาจสั้นเพียง 2 วันหรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับระยะการติดเชื้อและอาการของโรค

 

 

ที่มา : Apichai Tuanyok











©2018 CK News. All rights reserved.