วันที่ 25 ก.ย. 2562 ผู้สื่อข่าว onb news รายงานว่า นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุม คณะทำงานพิจารณาแนวทางการกำหนดให้รถยนต์ส่วนบุคคล และ รถจักรยานยนต์(มอเตอร์ไซค์)ที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น สามารถให้บริการรถโดยสารสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ว่าที่ประชุมได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการ
และการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้รถยนต์ส่วนบุคคล และ รถจักรยานยนต์ สามารถดำเนินการให้บริการสาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่นได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคณะทำงานจะสรุปและเสนอกรอบแนวทางให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พิจารณาก่อนที่จะส่งไปยังกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เพื่อจัดทำรายละเอียดในการแก้ไขข้อกฎหมายต่อไป
“กรมขนส่งจะต้องทำรายละเอียดขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายจะแล้วเสร็จใน 30 วัน หรือภายในเดือนต.ค. และเสนอให้รมว.คมนาคมเห็นชอบก่อนเสนอให้ครม.อนุมัติ คาดว่าไม่น่าเกินเดือน พ.ย. จากนั้นเสนอต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่างกฎหมาย และส่งกลับมากระทรวงคมนาคมเพื่อประกาศเป็นกฎกระทรวงเพื่อประกาศ ซึ่งคาดว่าการนำรถส่วนบุคคลมาให้บริการเป็นสาธารณะได้ผ่านแอพพลิเคชั่นจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมี.ค.63”
นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า กรมขนส่งจะต้องกลับไปแก้ไขกฎกระทรวง ในส่วนของรถยนต์ส่วนบุคคล ที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง ให้สามารถมาให้บริการโดยสารสาธารณะได้ผ่านแอพพลิเคชั่น จากเดิมกฎกระทรวงดังกล่าวจะไม่รองรับ ที่จะให้มีการนำรถส่วนยนต์ส่วนบุคคล มาให้บริการรถยนต์สาธารณะได้ ส่วนรถจักรยานยนต์กรมขนส่งจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ให้รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล สามารถมาให้บริการเป็นรถสาธารณะได้ผ่านแอพลลิเคชั่นได้ถูกกฎหมายได้ ส่วนพื้นที่การให้บริการรถจักรยานยนต์ จะต้องแก้ไขกฎหมายด้วยเพราะปัจจุบันรถรับจ้างมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ให้บริการ ไม่สามารถวิ่งข้ามเขตได้
นอกจากนี้ กรมขนส่งจะต้องไปกำหนดกรอบคุณสมบัติของผู้ประกอบการ ที่จะเป็นเจ้าของแอพพลิเคชั่นที่จะนำมาให้บริการ ต้องเป็นบริษัทคนไทย และจดทะเบียนในไทย ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบอัตลักษณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสแกนนิ้วมือ หรือ การสแกนม่านดวงตา ของเจ้าของรถ และ คนขับที่จะมาขับ ต้องเป็นบุคคลคนเดียวกัน เพื่อป้องกันการเกิดอาชญกรรมที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่กรมขนส่ง และเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบได้
อย่างไรก็ตาม กรมขนส่งต้องไปกำหนดกรอบรายละเอียดของสภาพรถ ที่จะนำมาให้บริการ ต้องมีความสะอาด สภาพรถดี และ ปลอดภัย และต้องมีการกำหนดเงื่อนไขในการวิ่งรับผู้โดยสารจะต้องไม่ไปจอดรถรอดักผู้โดยสารตามท้องถนน และต้องให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นที่ผู้โดยสารเรียกเท่านั้น เพื่อลดข้อพิพาท
©2018 CK News. All rights reserved.