ผอ.สำนักพุทธฯ แจง กรณีศาลปกครองสั่งห้าม กรมธนารักษ์ ขึ้นทะเบียน พุทธมณฑล เป็นที่ราชพัสดุ


27 มี.ค. 2568, 20:07

ผอ.สำนักพุทธฯ แจง กรณีศาลปกครองสั่งห้าม กรมธนารักษ์ ขึ้นทะเบียน พุทธมณฑล เป็นที่ราชพัสดุ




 

 

 

จากกรณีศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 133/2565 ระหว่างสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ผู้ฟ้องคดี) กับกรมธนารักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่ากรมธนารักษ์กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีผู้ถูกฟ้องคดีจะนำที่ดินแปลงพุทธมณฑลพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ แต่มหาเถรสมาคมได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 18/2564 เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ว่า ที่ดินพุทธมณฑลเป็นทรัพย์สินของพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนสมบัติกลาง ผู้ฟ้องคดีในฐานะที่มีอำนาจหน้าที่พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา

 

จึงมีหนังสือลงวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีระงับการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุที่ดินพุทธมณฑลภายในระยะเวลา 90 วัน แต่ผู้ถูกฟ้องคดียังไม่แจ้งระงับการขึ้นทะเบียน และมีหนังสือลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ยืนยันว่าที่ดินพุทธมณฑลเป็นที่ราชพัสดุ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล ล่าสุดศาลปกครองกลางพิพากษา ห้ามกรมธนารักษ์ นำที่ดินพุทธมณฑล 2.5 พันไร่ ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ

 

 นายอินทพร จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของที่ดินกล่าวว่า

 

“.. แต่เดิมที่ดินดังกล่าวยังไม่มีส่วนราชการใดเป็นผู้ดูแล เนื่องจากเอกสารสิทธิ์ต่าง ๆ ยังไม่เรียบร้อย โดยพื้นที่ดังกล่าว เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2500

 

ทางสำนักพุทธศาสนา จึงทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมกฤษฎีกา ว่าที่ดินดังกล่าวสมควรจะมีส่วนราชการใดเป็นผู้ดูแล ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงมีความเห็นว่า ควรเป็นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ เป็นผู้ดูแล

 

ทั้งนี้ทางสำนักพระพุทธศาสนา จึงกลับมาตรวจสอบประวัติความเป็นมาของพื้นที่ดังกล่าว จึงมีความเห็นว่า ที่ดินดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นส่วนราชการที่ราชพัสดุได้

 

เพราะพื้นที่ดังกล่าวได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานบริจาคโดย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยผ่านคณะสงฆ์และประชาชนในขณะนั้น

 

และถือได้ว่าที่ดินดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จำเพาะ โดยได้ขอให้ศาลปกครอง พิจารณาตีความว่าที่ดินดังกล่าว ควรขึ้นตรงกับหน่วยราชการใด จึงสรุปได้ว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องถูกยกเลิกโดยศาลปกครองในที่สุด แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยังมีเวลาอีก 30 วัน หากกรมธนารักษ์ไม่ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง

 

ทางสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะดำเนินการยื่นหนังสือให้ที่ดินดังกล่าว ตกเป็นเป็นศาสนาสมบัติกลาง โดยสำนักงานพระพุทธศาสนา ต่อไป”

 

ขอบคุณ - ท็อปนิวส์














©2018 CK News. All rights reserved.