ชาวบ้านร่วมสืบสาน ประเพณี เผาข้าวหลาม เพ็ญเดือนสาม ปิดทองไหว้พระศรีอริยเมตไตรย


12 ก.พ. 2568, 10:26

ชาวบ้านร่วมสืบสาน ประเพณี เผาข้าวหลาม เพ็ญเดือนสาม ปิดทองไหว้พระศรีอริยเมตไตรย




ชาวบ้านตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ร่วมกับวัดไลย์ โดยการนำของพระครูสมุพรเทพ จันทโชโต หรือหลวงพี่ต้อม พระสร้างฅน รักษาการเจ้าอาวาสวัดไลย์ ร่วมสืบสาน ประเพณี เผาข้าวหลาม เพ็ญเดือนสาม ปิดทองไหว้พระศรีอริยเมตไตรย วัดไลย์ วันมาฆบูชา ซึ่งทางชาวบ้านได้ทำสืบทอดกันมายาวนานกว่า100ปี หลังฤดูการเก็บเกี่ยวข้าว และผลผลิต ทางการเกษตรเรียบร้อย ก็จะมารวมตัวกัน จัดประเพณีนี้ เพื่อถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งมายังรุ่น ต่อ ๆ มาได้ เพื่อเป็นการร่วมกันอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่สืบต่อไป  และสร้างขวัญกำลังใจแก่ชาวบ้านที่ทำการเกษตร เนื่องจากในพื้นที่ของตำบลเขาสมอคอน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทำการเกษตร ทำนาปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก  

สำหรับประเพณีเผาข้าวหลาม เป็นประเพณีที่จัดสืบทอดกันมาและเพื่อสืบสานพิธีกรรมทางศาสนา นอกจากการทำบุญกุศลแล้วยังเป็นการชุมนุมพบปะกันของคนในชุมชน นิยมจัดงานประเพณีในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ปัจจุบันมีการจัดงานประเพณีเผาข้าวหลามในหลายพื้นที่ และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ประเพณีเผาข้าวหลาม จังหวัดระยอง ประเพณีขึ้นเขาเผาข้าวหลามหรือประเพณีบุญข้าวหลาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และประเพณีเผาข้าวหลาม
 
ซึ่งประเพณีเผาข้าวหลาม เพ็ญเดือนสาม วันมาฆบูชา ปิดทอง ไหว้พระศรีอริยเมตไตรย วัดไลย์  เป็นประเพณีที่สำคัญของชาวบ้านในตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ที่มีประวัติความเป็นมาตามที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกันมายาวนาน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญในสังคมของแต่ละยุคสมัย แสดงถึงความสงบสุขร่มรื่น มีความผูกพันกันแบบพี่น้อง เครือญาติ มีความเป็นระเบียบแบบแผนกฎเกณฑ์ที่ทุกคนต่างยึดถือปฏิบัติในรูปแบบเดียว สมาชิกในสังคมจึงมีส่วนช่วยทำให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีงาม ช่วยให้สังคมและชุมชนมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นและเกิดความเจริญอย่างยั่งยืน ถึงแม้ว่าสภาพของสังคมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์โลก และเมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงจากสาเหตุดังที่กล่าวไว้แล้วจึงต้องทำให้วัฒนธรรมและประเพณีเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย แต่เราจำเป็นจะต้องช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีในรูปแบบต่าง ๆ ที่มองเห็นว่ามีประโยชน์ต่อส่วนรวมในปัจจุบันและอนาคตเข้าไว้ เพื่อให้วัฒนธรรม พิธีกรรม และประเพณีเคียงคู่ไปพร้อมสังคมต่อไป

ความเป็นมาของวัดไลย์ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมน้ำบางขาม ในเขตตำบลเขาสมอคอน สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยเสด็จไปวัดนี้ และทรงกล่าวไว้ในพระนิพนธ์เรื่องเที่ยวตามทางรถไฟไว้ว่า "วัดไลย์อยู่ริมน้ำบางขาม พ้นเขาสมอคอนไปทางตะวันตกไม่ห่างนัก เป็นวัดเก่าชั้นแรกตั้งกรุงศรีอยุธยา หากจะกล่าวว่า วัดไลย์ เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์พอ ๆ กับมีคุณค่าทางจิตใจแก่ชาวลพบุรีก็คงจะไม่ผิดนัก เนื่องด้วยอายุอานามของวัดที่เก่าแก่ เป็นวัดเก่าตั้งแต่สมัยการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีลายภาพของเก่าปั้นเรื่องทศชาติและเรื่องปฐมโพธิ์ อันงดงาม และเป็นสถานที่ประดิษฐานพระศรีอาริย์ จนกระทั่งเกิดไฟไหม้พระวิหารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้อัญเชิญพระศรีอาริย์ลงมาปฏิสังขรณ์ที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันได้ก่อสร้างวิหารสำหรับ ประดิษฐานพระศรีอาริย์ขึ้นมาใหม่ด้านหน้าเป็นรูปมณฑลจัตุรมุขแลดูสง่างาม 

ภายในวัดยังมีมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของเมืองลพบุรีให้ชมอีกมากมาย เช่น พระวิหาร สถาปัตยกรรมแบบอยุธยาตอนต้น ที่มีประธานขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ซุ้มเรือนแก้วแบบพระพุทธชินราช ภาพปูนปั้นเรื่องทศชาติและเรื่องปฐมสมโพธิ นอกจากนี้ยังมีพระอุโบสถ วิหารรูปมณฑปยอดปรางค์ และพิพิธภัณฑ์ประจำวัด ซึ่งมีของเก่ามากมายให้ได้ชม เช่น พระพุทธรูป เครื่องหมาย เครื่องลายคราม เครื่องมือ เครื่องใช้สมัยโบราณ เป็นต้น เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์และชิ้นงานโบราณคดี นอกจากนี้ วัดไลย์ยังมีประเพณีคือ ประเพณีเผาข้าวหลาม เพ็ญเดือนสาม ปิดทองไหว้พระศรีอริยเมตไตรย วัดไลย์ วันมาฆบูชา วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 วัดไลย์จะมีประเพณีชักพระศรีอาริย์ทางสถลมารค แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาชักพระศรีอาริย์ ทางถนนแทนทางน้ำ ด้วยจะเข้ ชนิดไม่มีล้อ โดยมีการจัดขบวนอัญเชิญพระศรีอาริย์ขึ้นบุษบกและช่วยกันชักลากแห่ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ส่วนตอนกลางคืนมีมหรสพสมโภชตลอดงาน














©2018 CK News. All rights reserved.