รองนายกฯ “ประเสริฐ” ชื่นชม 4 ปี สคทช. ทำงานปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ และไม่ทิ้งสิทธิของประชาชนให้เข้าถึงที่ดินทำกิน และการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาพิสูจน์สิทธิของคนไทย เป็นการแก้ปัญหาที่ดินของชาติ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสคนไทยให้ยืนอยู่ได้บนเวทีโลก
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พร้อมด้วย นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะฯ เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ พร้อมมอบโล่มอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติแก่หน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนภารกิจ คณะอนุกรรมการพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐ (คพร.จังหวัด) และคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด (คทช.จังหวัด) ดีเด่น ในงานสัมมนายกระดับการบริหารจัดการที่ดินผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) 4 ปี สคทช. “Smart Land, Smart Future” โดยมี ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสํานักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ สคทช. ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน กว่า 500 คนเข้าร่วมงานฯ ณ ห้องวายุภักษ์แกรนด์บอลรูมชั้น 4 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนซันเซ็นเตอร์
นายประเสริฐ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลอย่างมากต่อการดำเนินงานของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลอดจนการใช้ชีวิตของประชาชน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI)มาใช้ในการบริหารจัดการที่ดินของประเทศจึงเป็นการสร้างความทันสมัยและเสริมประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อันจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับพี่น้องประชาชน
การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาใช้ในการบริหารจัดการที่ดินของ สคทช. ทั้งการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 หรือ One Map การปรับเปลี่ยนการจัดทำแผนที่แนบท้ายให้เป็นรูปแบบดิจิทัล การนำเทคโนโลยี AI และ Deep Learning มาพัฒนาประสิทธิภาพการพิสูจน์สิทธิในเขตที่ดินของรัฐ การใช้ Big data ในการจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านที่ดินของประเทศ การติดตามผลการดำเนินงานตามนโยบายจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน การจัดทำฐานข้อมูลที่ดินเพื่อรองรับการใช้กฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของ EU หรือ EUDR การเสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชนในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลข่าวสารในการผลิตและประกอบอาชีพผ่านการใช้ Internet of Things เพื่อส่งเสริมการทำเกษตรอัจฉริยะ (Smart farming) และส่งเสริมการขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์
”สิ่งเหล่านี้ล้วนตอบโจทย์นโยบายการพัฒนาดิจิทัลของรัฐบาล ในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และสร้างโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียม ซึ่งรวมถึงการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานด้านไฟฟ้า ประปา โดยผ่านกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ของ คทช. ที่นำเทคโนโลยีการอ่านภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน โดยจะเห็นได้ว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาใช้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน เป็นการวางรากฐานที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อโครงสร้างและกระบวนการทำงานที่จะเป็นประโยชน์กับประชาชนในวงกว้าง ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึง พัฒนา และใช้ประโยชน์จากสารสนเทศและบริการภาครัฐได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและการเข้าถึงบริการของภาครัฐแล้ว ยังช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้ที่สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลกับผู้ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงและไม่สามารถใช้ประโยชน์จากไอซีทีได้
“ขอชื่นชมตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ สคทช. ได้ทำงานปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ และไม่ทิ้งสิทธิของประชาชน ให้เข้าถึงที่ดิน ซึ่งมีที่ดินในความรับผิดชอบมากกว่า 5,000,000 ไร่ทั่วประเทศ และดำเนินการไปแล้วประมาณ 10% และขอชื่นชมที่จะนำระบบเศรษฐกิจดิจิทัล มาใช้เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การนำการนำเทคโนโลยีดิจิทัล และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทในการพิสูจน์สิทธิของคนไทย นับเป็นการแก้ปัญหาที่ดินของชาติ ลดความเหลื่อมล้ำสร้างโอกาสคนไทยให้ยืนอยู่ได้บนเวทีโลก” นายประเสริฐ กล่าว
ขณะที่ ดร.รวีวรรณ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา สคทช. ได้ขับเคลื่อนวาระเร่งด่วนในการบริหารจัดการที่ดินเพื่อพัฒนาโครงสร้าง ระบบ กลไก จัดทำนโยบาย แผน มาตรการ และขับเคลื่อนนโยบายสำคัญในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เพื่อสร้างการบูรณาการในการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกินให้กับประชาชน
โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ประกอบด้วย การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) เพื่อลดปัญหาการทับซ้อนของแนวเขตที่ดินของรัฐภายใต้หลักการ One Land, One Law ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วใน 4 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 44 จังหวัด ขณะที่กลุ่มที่ 5 ได้ผ่านการเห็นชอบของ คทช. แล้ว อยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา และยังได้มีการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐและแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของราษฎรตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี กรณีพื้นที่นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งมีปัญหาความขัดแย้งมายาวนานกว่า 50 ปี
การพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐและการอ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ในปีงบประมาณ 2567 สามารถแก้ปัญหาได้ข้อยุติใน 1,050 ราย จำนวน 1,071 แปลง เนื้อที่ประมาณ 6,850 ไร่ และได้มีการส่งไปอ่านแปล ตีความภาพถ่ายทางอากาศ จำนวน 373 ราย จำนวน 404 แปลง
สำหรับการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ตามหลักเกณฑ์ที่ คทช. กำหนด โดยให้หนังสืออนุญาตทำกินและสามารถตกทอดสู่ทายาทได้ ซึ่งได้มีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายทั้งสิ้น 1,594 พื้นที่ในเนื้อที่ 5.92 ล้านไร่ มีการออกหนังสืออนุญาตแล้วประมาณ 2.7 ล้านไร่ และมีการจัดคนเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแล้วประมาณ 92,000 ราย และส่งเสริมพัฒนาอาชีพแล้วกว่า 350 พื้นที่ ใน 68 จังหวัดรวมถึงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (Big Data Platform)และการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ที่ดินและทรัพยากรดิน ในรูปแบบ e-Petitions และผ่าน Application “ทางรัฐ”
ทั้งนี้ สคทช. มีเป้าหมายที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม สะดวกและรวดเร็ว ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดขับเคลื่อนแนวทางการสร้างมูลค่าที่ดินที่รัฐจัดให้กับประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถนำสมุดประจำตัวผู้ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยในพื้นที่ คทช. เป็นหลักประกันในการเข้าถึงแหล่งทุนของรัฐในการประกอบอาชีพได้
รวมทั้ง การเร่งรัดผลักดันให้ความช่วยเหลือประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตที่ดินของรัฐให้เข้าถึงสาธารณูปโภคไฟฟ้า ประปา เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนต่อไป
©2018 CK News. All rights reserved.