วันที่ 23 ม.ค. 2567 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเปิดจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมครั้งแรกของไทยในวันที่ 23 ม.ค.นี้ว่า กทม.ได้จัดเตรียมความพร้อมด้านเจ้าหน้าที่บุคลากรผู้ให้บริการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในทุกเขต เช่น การใช้คำพูดต่าง ๆ เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นเรื่องสำคัญ ต้องใส่ใจกับความรู้สึกผู้ที่มีความแตกต่างหลากหลาย
เบื้องต้นทราบว่ามีประมาณ 300 คู่ กทม.ใช้หลักการเดียวกันกับการจดทะเบียนสมรสทั่วไป แต่เรื่องสิทธิต่าง ๆ ต้องปรับให้ทันกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าดูแลบุตรต่าง ๆ ต้องดูรายละเอียดต่อไป
สำหรับคุณสมบัติของผู้จะจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมมีดังนี้ คือ 1.บุคคลทั้งสองจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ กรณีผู้เยาว์ต้องนำบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาล 2.ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือไร้ความสามารถ 3.ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมแต่บิดามารดา 4.ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น 5. ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้ 6.หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตาย หรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อสิ้นสุดการสมรสไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่ คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้ มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ สมรสกับคู่สมรสเดิม
โดยเอกสารที่ต้องใช้ในการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม กรณีคนไทยกับคนไทย ประกอบด้วย บัตรประจำตัวประชาชน กรณีคนไทยกับคนต่างชาติ เอกสารประกอบด้วย บัตรประจำตัวประชาชนคนไทย หนังสือเดินทางคนต่างชาติ หนังสือรับรองสถานภาพการสมรสที่แสดงว่าไม่มีคู่สมรสในขณะที่จะจดสมรส และกรณีคนต่างชาติกับคนต่างชาติ เอกสารประกอบด้วย หนังสือเดินทาง และหนังสือรับรองสถานภาพการสมรสที่แสดงว่าไม่มีคู่สมรสในขณะที่จะจดสมรส ทั้งนี้ การจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม ทั้ง 3 กรณี จะต้องมีพยาน 2 คน ซึ่งเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ
©2018 CK News. All rights reserved.