วันนที่ 24 ธ.ค. 2567 ที่ สำนักงาน ปปง. (หัวช้าง) กรุงเทพฯ นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้สำนักงาน ปปง. ดำเนินการตรวจสอบกรณีเงิน 20 ล้านบาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับนายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรือ ส.จ.โต้ง อดีต ส.อบจ.ปราจีนบุรี และนายสุนทร วิลาวัลย์ หรือโกทร โดยให้ตรวจสอบว่ามีจำนวนเงินดังกล่าวจริงหรือไม่ และให้ตรวจสอบว่าเงินดังกล่าว หากมีจริง เป็นเงินที่มาจากแหล่งใด ธุรกิจอะไร สามารถชี้แจงได้หรือไม่ อย่างไร เพราะจำนวนเงินดังกล่าว เป็นจำนวนเงินที่ระบุว่า เอาไปจาก สจ.อบจ. ซึ่งเป็นไปตามระบบราชการหรือไม่ และเป็นความผิดมูลฐานของ ปปง. หรือไม่ อย่างไร โดยมี นายสุทธิศักดิ์สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย และในฐานะรองโฆษก ปปง. เป็นตัวแทนรับเรื่อง
โดยนายสนธิญา สวัสดี กล่าวว่า วันนี้ตนมายื่นเรื่องขอให้ ปปง. ช่วยตรวจสอบนิติพฤติกรรมของบุคคลที่มีเหตุการณ์ยิงกันเสียชีวิต คือ กรณีของ สจ.โต้ง และนายสุนทร เนื่องด้วยภายหลังการยิงกันเสร็จสิ้น กลับปรากฏเรื่องคลิปเสียงสนทนาระหว่างบุคคลประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งอาจจะมีการจ่ายไปแล้ว หรือส่วนหนึ่งอาจจะมีการจ่ายให้ผู้สมัครนายก อบจ. คนปัจจุบันอยู่ด้วย และเมื่อวานนี้ (23 ธ.ค.) ก็มีข่าวและคลิปเสียงเผยแพร่ทางโทรทัศน์ทีวี เรื่องเงินจำนวน 72 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องไปถึงผู้สมัครนายก อบจ. จึงอยากให้ ปปง. รับเรื่องไว้พิจารณา และวินิจัยโดยเบื้องต้นก่อน ทั้งเรื่องเงิน 20 ล้าน และเงินกว่า 70 ล้าน เพราะตนไม่เชื่อว่าผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วจะมีเงินจำนวนมากขนาดนี้ อีกทั้งในบางข่าวก็ปรากฏถึงขั้นว่าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พนันออนไลน์หรือไม่ หรือมีการนำเงินนั้นไปใช้ในการเลือกตั้งหรือไม่ เพราะอาจเข้าข่ายเป็นมูลฐานความผิด 28 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นการไม่จ่ายภาษีหรือไม่ การเป็นอั้งยี่หรือไม่ ทั้งนี้ ขอให้ ปปง. ดำเนินการตรวจสอบ ไต่สวน และพิจารณายึดทรัพย์สิน เหมือนกับของรายคดีทนายตั้ม เพราะถ้ามีการนำเงินผิดกฎหมายไปใช้ในการเลือกตั้งก็อาจจะทำให้การเลือกตั้งนั้นเป็นไปอย่างไม่สุจริต กระทบต่อความเสียหายของชาติ
นายสนธิญา เผยด้วยว่า สำหรับเรื่องเงิน 20 ล้าน และยังมีการพูดถึงเงิน 75 ล้าน และ 25 ล้านตามมานั้น ถือว่าเป็นจำนวนเงินค่อนข้างเยอะ แต่เรื่องที่มาของเงินเหล่านี้คงจะต้องประสานนายสันธนะ ประยูรรัตน์ และคงต้องอ้างอิงท่านให้เป็นพยาน เพราะท่านอาจจะมีข้อมูล แต่ตนกล้ายืนยันเลยว่า รูปภาพและคลิปเสียงเป็นการคุยกันในเรื่องของการสมัครนายก อบจ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 28 มูลฐานความผิดชัดเจน คือ เรื่องของการเป็นผู้บริหารท้องถิ่น นอกจากนี้ ยังเป็นกรณีของการอั้งยี่ซ่องโจร หรือไม่ แต่ก็อยู่ที่ตำรวจจะเป็นผู้พิจารณา อีกทั้งยังมีอีกมูลฐานความผิด คือ การไม่เสียภาษี จึงยื่นเรื่องให้ ปปง. ตรวจสอบเพราะเข้าข่าย 3 ความผิดมูลฐานดังกล่าว ทั้งนี้ เงินจำนวนเกือบ 100 ล้านบาทนี้ อยากให้ตรวจสอบว่าเป็นเงินมาจากแหล่งเงินใด ใครครอบครอง และจะนำไปใช้สำหรับวัตถุประสงค์ใดกันแน่ และทำธุรกิจอะไรจึงมีเงินเยอะขนาดนี้ เพราะมันยังมีการอ้างว่าจะมีการแบ่งเงินไว้สำหรับผู้ที่จะลงสมัครนายก อบจ. ของจังหวัด รวมถึงในช่วงต้นเดือน ม.ค.68 ตนจะได้นำพยานเอกสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาให้ ปปง. อีกครั้ง
นายสนธิญา ระบุต่อว่า ในส่วนของสำนวนตำรวจที่อาจจะมีรายละเอียดในเรื่องนี้เข้าสู่สำนวนการสอบสวนแล้วนั้น ตนอยากเรียนตรง ๆ ว่า เขาสมัครในนามพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ดังนั้น ตนจึงไม่มั่นใจในตำรวจ จึงต้องมาที่ ปปง. แม้ ปปง. ขึ้นตรงสำนักงานนายกรัฐมนตรี แต่ตนก็เชื่อว่า ปปง. น่าจะคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน รวมถึงการเลือกตั้งที่ต้องสุจริตเที่ยงธรรม อย่างไรตนก็จะติดตามผลการดำเนินการของ ปปง. จนถึงที่สุด
“หากถึงวันนั้นระบุว่าในเรื่องนี้ไม่มีใครผิดเลย ตนคิดว่าก็คงไม่ต้องมี ปปง. เพราะถ้าเขาใช้เงินกันขนาดนี้ เป็นเงินไม่ได้จ่ายภาษี เป็นเงินอั้งยี่จากการยิงกัน มีการลงสมัครนายก อบจ. และคนมีชื่อก็ไปสมัครนายก อบจ. ก็แค่ต้องให้ ปปง. ตรวจสอบว่ามีเงินนั้นจริงหรือไม่ เป็นเงินที่มาจากไหน หรือตามที่กล่าวหาว่าเป็นเงินจากเว็บพนันออนไลน์ เงินแชร์ หรือการเตรียมซื้อสิทธิ์ขายเสียง อย่างไร หรือไม่ เพราะเงินในภาพมันเป็นเงินแบงค์ร้อย แต่ตนไม่ได้บอกว่าใครคนใดจะซื้อสิทธิ์ขายเสียง” นายสนธิญา ระบุ.
นายสนธิญา ปิดท้ายว่า ตนต้องขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของ สจ.โต้ง แต่เพราะการเสียชีวิตของ สจ.โต้ง มันได้ทำให้เรื่องแดงขึ้น มีประโยชน์ต่อประชาชน เพราะเงินมันเยอะเกือบ 100 ล้านบาท
ขณะที่ นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย และในฐานะรองโฆษก ปปง. กล่าวว่า สำหรับการยื่นเรื่องให้ ปปง. ตรวจสอบ หากเป็นความผิดมูลฐาน พนักงานสอบสวนจะมีการรายงานมายัง ปปง. ให้ดำเนินการตามกฎหมาย ปปง. อยู่แล้ว เหมือนกับหลายคดีที่ผ่านมา แต่เมื่อเรารับเรื่องวันนี้มาแล้ว ก็จะได้นำไปตรวจสอบว่าเป็นความผิดมูลฐานหรือไม่ โดยจะได้นำเอาสำนวนของพนักงานสอบสวนมาประกอบการตรวจสอบ หากพบว่าเป็นความผิดมูลฐานจริง แล้วมีทรัพย์ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ปปง. ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ทางพนักงานสอบสวนยังไม่ได้นำส่งรายละเอียดใดแก่ ปปง. เนื่องจากต้องพบความผิดมูลฐานก่อน ส่วนกรณีดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐาน 28 ความผิดหรือไม่ ต้องรอดูว่าพนักงานสอบสวนจะมีการดำเนินคดีในข้อหาอะไร
รองโฆษก ปปง. เผยต่อว่า สำหรับกระบวนการสืบทรัพย์สินหากพนักงานสอบสวนได้มีการส่งสำนวนรายการทรัพย์สินมานั้น ปปง. จะตรวจสอบว่าเรื่องดังกล่าวมีความผิดมูลฐานหรือไม่ ถ้ามี เราก็จะเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการธุรกรรม เพื่อพิจารณามอบหมายให้เจ้าหน้าที่ ปปง. ไปตรวจสอบเรื่องทรัพย์สินของผู้กระทำผิดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ว่าบุคคลนั้น ๆ ได้รับทรัพย์สินที่มาจากการกระทำผิดจริงหรือไม่ ถ้าเป็นทรัพย์สินที่มาจากการกระทำผิด ปปง. ก็จะออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ต่อไป
รองโฆษก ปปง. เผยด้วยว่า ส่วนกรณึที่เลขาธิการ ปปง. ใช้อำนาจในการยึดและอายัดทรัพย์สินด้วยตัวเอง จะเกิดขึ้นในกรณีที่จำเป็นเร่งด่วนจริง ๆ หากไม่ดำเนินการ ทรัพย์สินนั้นอาจจะมีการจำหน่าย จ่าย โอน ส่วนนี้ก็สามารถใช้อำนาจของเลขาธิการ ปปง. ได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ว่าต้องพบความผิดมูลฐานของเรื่องนั้นก่อน ทั้งนี้ ในการใช้อำนาจยึดและอายัดทรัพย์โดยเลขาธิการ ปปง. เอง จะไม่ต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการธุรกรรม แต่เมื่อมีการยึดและอายัดแล้ว ก็จะต้องแจ้งคณะกรรมการธุรกรรมให้รับทราบถึงการใช้อำนาจดังกล่าวด้วย
©2018 CK News. All rights reserved.