กทม. ลุยจัดเก็บกระทง ก่อนนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ตั้งเป้าการลอยกระทงโฟมให้เป็น 0%


16 พ.ย. 2567, 07:02

กทม. ลุยจัดเก็บกระทง ก่อนนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ตั้งเป้าการลอยกระทงโฟมให้เป็น 0%




วันที่ 16 พ.ย.2567  นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer: CSO) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ในเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ บริเวณปากคลองโอ่งอ่าง ฝั่งพระนคร (ใต้สะพานพระปกเกล้า) ก่อนสำนักสิ่งแวดล้อมจะนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

นายพรพรหม กล่าวว่า ปีนี้ กทม. พยายามรณรงค์ให้การลอยกระทงด้วยโฟมเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ โดยปีที่แล้วมีสถิติการลอยกระทงโฟมกว่า 600,000 ใบ และหวังว่าปีนี้จะลดลง เนื่องจากในปีนี้ กทม. มีการจัดงานลอยกระทงดิจิทัล 3 แห่งใหญ่ คือ สวนสันติภาพ เขตดินแดง สกายวอล์กระหว่าง MBK กับ Siam Discovery เขตปทุมวัน และลานคนเมือง เขตพระนคร รวมถึงการจัดกิจกรรมลอยกระทงออนไลน์ โดยสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร 

นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ไม่ให้ใช้กระทงจากขนมปัง เนื่องจากทำให้สัตว์น้ำและปลาตายได้ สำหรับในส่วนของการจัดเก็บกระทงนั้น กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการจัดเก็บกระทงตามแผนการปฏิบัติงานจัดเก็บกระทง เพื่อไม่ให้ขยะตกค้างในแหล่งน้ำ แบ่งพื้นที่การจัดเก็บกระทง ดังนี้ สำนักงานเขตจัดเก็บกระทงในสวนสาธารณะ และพื้นที่จัดงานในพื้นที่เขต สำนักการระบายน้ำจัดเก็บกระทงในคูคลอง และบึงรับน้ำ สำนักสิ่งแวดล้อมจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่สะพานพระราม 8 ถึงสะพานพระราม 9 ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร โดยได้จัดเจ้าหน้าที่ และวัสดุ อุปกรณ์ ยานพาหนะในการจัดเก็บกระทง จำนวน 185 คน เรือเก็บขยะจำนวน 40 ลำ ติดตั้งไฟส่องสว่างทุกลำ ประกอบด้วย เรือไฟเบอร์กลาส 34 ลำ เรือขนถ่ายและลำเลียงวัชพืช จำนวน 2 ลำ เรือเก็บขนและลำเลียงวัชพืช จำนวน 1 ลำ เรือกวาดเก็บวัชพืช จำนวน 1 ลำ และเรือตรวจการณ์ จำนวน 2 ลำ รถทั้งหมด 13 คัน ประกอบด้วย รถตรวจการณ์ จำนวน 5 คัน รถบรรทุกเทท้าย จำนวน 8 คัน กระทงที่จัดเก็บได้ในแม่น้ำเจ้าพระยาจะลำเลียงขึ้นที่ปากคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และท่าคลังสินค้า กระทรวงพาณิชย์ เขตราษฎร์บูรณะ โดยจะแยกเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ซึ่งจะนำไปบดย่อย และนำส่งโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม 

ส่วนกระทงที่ทำจากวัสดุอื่น เช่น โฟม จะนำไปฝังกลบ ในส่วนของกระทงที่จัดเก็บได้ในพื้นที่อื่น ๆ เจ้าหน้าที่จะจัดเก็บไปส่งที่สถานีขนถ่ายมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 3 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม เพื่อนำไปทำลายอย่างถูกสุขลักษณะ โดยกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้จะนำเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์หนองแขม และนำไปฝังกลบ ส่วนกระทงโฟมจะนำไปเข้าสู่กระบวนการฝังกลบต่อไป ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครจะปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 จนถึงเวลา 05.00 น. ของวันที่ 16 พฤศจิกายน 2567

นายพรพรหม กล่าวต่อไปว่า จากการลงพื้นที่ 3 แห่งในคืนนี้พบว่ามีประชาชนจำนวนมากร่วมลอยกระทงดิจิทัล ส่วนการลอยกระทงออนไลน์ ขณะนี้ (ณ เวลา 21.00 น.) มีการเข้าร่วมกิจกรรมประมาณกว่า 20,000 กระทงแล้ว ซึ่งแนวโน้มการจัดกิจกรรมลอยกระทงดิจิทัลมีเพิ่มมากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าปีที่แล้วมีเพียง 1 แห่ง แต่ในปีนี้มีการจัดกิจกรรมถึง 3 แห่ง และมีภาคเอกชนให้ความสนใจมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าประชาชนให้ความสนใจร่วมกิจกรรมจำนวนมากทุกเพศทุกวัย นอกจากนี้ กทม. ยังได้รับคำชื่นชมเรื่องการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียจากการลอยกระทงขนมปังอีกด้วย สำหรับภาพรวมขณะนี้พบว่ามีการจัดเก็บกระทงธรรมชาติได้จำนวนมากกว่ากระทงโฟม โดย กทม. จะรวบรวมสถิติกระทงที่จัดเก็บได้ทั้งหมดของค่ำคืนนี้รายงานผ่านเพจเฟซบุ๊ก “กรุงเทพมหานคร” ภายในเวลาไม่เกิน 08.00 น. ของเช้าวันนี้ 





คำที่เกี่ยวข้อง : #ลอยกระทง  









©2018 CK News. All rights reserved.