วันที่ 4 กันยายน 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ระดมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศนวัตกรรมทั้งไทยและต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมอง และประสบการณ์ในหลากหลายประเด็น ในงานสัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีการจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เช่น การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบนิเวศนวัตกรรมแห่งชาติ กรณีศึกษาจากสาธารณรัฐลิทัวเนียและราชอาณาจักรสวีเดน วิธีสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ดีด้วยการส่งเสริมผู้มีความสามารถและภาพการลงทุนในอนาคต ก้าวสู่อนาคตกับ NIA เพื่อเร่งสร้างการเติบโตธุรกิจนวัตกรรมไทย การเชื่อมแหล่งเงินทุนนวัตกรรมระหว่าง NIA x FTI one x BOI” และการขยายธุรกิจสู่ตลาดสากล นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือกับคณะปรึกษานานาชาติของ NIA ในประเด็นการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยกลไกการลงทุนและการพัฒนากำลังคนผู้มีความสามารถ ซึ่งจะได้นำมาพัฒนาและต่อยอดการดำเนินงานให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยต่อไปในอนาคต
ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ระยะวลา 15 ปีที่ NIA มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับ “ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” โดยมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยให้สามารถตั้งต้นและเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างคนรุ่นใหม่ที่เปิดรับและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่นำไปสู่ความเปลี่ยนเชิงบวกให้สังคมและสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่า NIA ได้ก้าวข้ามความท้าทายและการเปลี่ยนผ่านโดยวางหมุดหมายที่จะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาและการเติบโตของระบบนวัตกรรมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2547 ที่ “นวัตกรรม” เป็นแนวคิดใหม่ที่รัฐบาลนำมาใช้ในการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจจากการเป็นฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมไปสู่การสร้างและพัฒนาสินค้าและบริการมูลค่าสูง เน้นตอบโจทย์การสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม จนมาในปี พ.ศ. 2552 ที่มีการจัดตั้ง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ
“จากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน “บริบทนวัตกรรม” ของประเทศไทยแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง มีความท้าทายและโอกาสมากมายที่ NIA ต้องเผชิญในการพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศให้ทัดเทียมระดับนานาชาติ ตั้งแต่เริ่มมีการจัดตั้งสำนักงานสู่การเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพในปี พ.ศ. 2559 เพื่อสร้างนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ผ่านโครงการ Startup Thailand และในปี พ.ศ. 2562 ได้เข้าไปมีบทบาทสำคัญอีกครั้งในการเชื่อมโยงแหล่งทุนนวัตกรรม (PMU ภายใต้ อว.) เพื่อมุ่งสู่การเติบโตในอนาคตผ่านการขับเคลื่อนนวัตกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศนวัตกรรมไทยทำให้ NIA ต้องมีการพัฒนาและเติบโตควบคู่กันไป เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ที่เกิดขึ้น ทั้งกลไกสนับสนุนและเครือข่ายความร่วมมือที่ได้ริเริ่ม ต่อยอด และขยายผล เพื่อให้เกิด “นวัตกรรม” ที่สามารถสร้างผลกระทบสูงต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ นวัตกรรมเพื่อสังคม นวัตกรรมเชิงพื้นที่ นวัตกรรมภาครัฐ ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรมรุ่นใหม่ทั้งระดับบุคคลและองค์กร ซึ่งจากความมุ่งมั่นดังกล่าวทำให้ NIA เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในฐานะหน่วยงานหลักของประเทศในการขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมไทย
เห็นได้จากการครองแชมป์ Thailand’s Most Admired Company “องค์การมหาชน” ด้านเทคโนโลยี-นวัตกรรม 3 ปีซ้อนนับตั้งแต่ปี 2021 และตลอด 15 ปี (พ.ศ. 2552 – 2567) ได้ให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมกับผู้ประกอบการแล้ว 3,133 โครงการ คิดเป็นมูลค่าโครงการ 3,586 ล้านบาท และก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุน 50,350 ล้านบาท ตลอดจนเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงบริการพัฒนาและส่งเสริมสตาร์ทอัพระดับโลกที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับสตาร์ทอัพทั้งสัญชาติไทยและต่างประเทศ ผ่านการให้คำปรึกษา เชื่อมโยงเครือข่ายนักลงทุน และเข้าถึงสิทธิพิเศษของภาครัฐ”
สำหรับก้าวต่อไปภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor)” NIA พร้อมเชื่อมการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมให้สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ภายใต้แนวคิด “Groom” ที่เน้นบ่มเพาะและเสริมสร้างเสริมศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยผ่าน
16 หลักสูตรสร้างนวัตกร โดยแบ่งเป็นการพัฒนาเยาวชนที่สนใจเตรียมพร้อมที่จะเติบโตในการสร้างธุรกิจนวัตกรรม
2 หลักสูตร และการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม 14 หลักสูตร รวมถึงสตาร์ทอัพลีคที่มีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 70,000 คน จากเครือข่าย 48 มหาวิทยาลัย จดทะเบียนบริษัท 80 แห่ง และสามารถสร้างมูลค่าทางธุรกิจกว่า 100 ล้านบาท “Grant” ผ่าน 7 กลไกการสนับสนุนเงินทุนใหม่ที่เน้นการพัฒนาและและขยายผลธุรกิจนวัตกรรมไปสู่ตลาดที่ครอบคลุมทั้งนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และความร่วมมือกับแหล่งเงินทุนภายนอก “Growth” เป็นการเร่งสร้างการเติบโตธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่านโปรแกรมเร่งการเติบโตสตาร์ทอัพใน 4 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีอาหาร เทคโนโลยีเกษตร เทคโนโลยีด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการนวัตกรรมระดับภูมิภาคผ่านโครงการนิลมังกร 10X ที่มุ่งสร้างยอดขายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทในระยะเวลา 3 ปี และ “Global” เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยสู่ตลาดสากลผ่านโอกาสการขยายธุรกิจและการระดมทุน ด้วยบริการของ Global Startup Hub และโปรแกรมส่งเสริมการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ รวมถึงเร่งผลักดัน พรบ. สตาร์ทอัพ เพื่อเอื้อต่อระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เข้มแข็ง ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณเครือข่ายนวัตกรรมทุกภาคส่วนที่พร้อมร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมไปกับ NIA โดยมีเป้าหมายในการผลักดันประเทศไทยสู่ “ชาตินวัตกรรม” ที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก ดร. กริชผกา กล่าวสรุป
©2018 CK News. All rights reserved.