วันที่ 7 ส.ค.2567 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ “สั่งยุบพรรคก้าวไกล” พร้อมมีมติเอกฉันท์ ตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล จำนวน 11 คน ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์, นายชัยธวัช ตุลาธน, นางสาวณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์, นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล, นายปดิพัทธิ์ สันติภาดา, นายสมชาย ฝั่งชลจิตร, นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, นายอภิชาต ศิริสุนทร, นางสาวเบญจา แสงจันทร์, นายสุเทพ อู่อ้น และนายอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ เป็นเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยในวันนี้ (7 ส.ค.) และห้ามกรรมการบริหารพรรคฯ ดังกล่าวไปจดทะเบียน หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่น 10 ปี
โดย ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ ให้เสรีภาพบุคคลในการจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อหล่อหลอมอุดมการณ์เจตจำนงของประชาชน จนเป็นนโยบายของพรรคการเมือง พรรคการเมืองจึงมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการประชาธิปไตย และแม้บุคคลจะมีเสรีภาพ แต่ก็ต้องมีขอบเขต และเขตแดนที่จำกัด ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติบุคคล จะใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ และการบัญญัติการยุบพรรค เป็นมาตรการตอบโต้ และป้องกันภัยคุกคามของพรรคการเมือง ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังชี้แจงด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยที่ 3/2567 จากกรณีที่ 44 สส.พรรคก้าวไกล ที่เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรในชุดที่แล้ว รวมถึงพรรคก้าวไกล ยังคงหาเสียงในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างต่อเนื่อง และแสดงความเห็นการแก้ไข และยกเลิก ม.112 ใช้ตำแหน่ง สส.เป็นนายประกันผู้ต้องหาในคดี ม.112 หลายครั้ง หรือ สส.ของพรรคก็ทำผิดกฎหมายดังกล่าวเสียเอง ศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้สั่งให้พรรคการไกล ยุติการกระทำดังกล่าว และห้ามแก้ ม.112 โดยวิธีที่ไม่ใช่กระบวนการตามนิติบัญญัติโดยชอบ
ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกล โต้แย้ง กกต.ไม่เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้โต้แย้งในคดีความดังกล่าว และ กกต.ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบ กกต.ในการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในการยุบนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชี้แจงว่า กฎหมายพรรคการเมืองระบุว่า เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง และเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง หรือพบการกระทำ ก็จะต้องรวบรวมข้อเท็จจริง และยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 แล้ว ดังนั้น กกต.จึงสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งถือเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ที่ กกต.เห็นว่า ไม่สามารถโต้แย้งเป็นอื่นได้ ดังนั้น กกต.จึงยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้น ข้อโต้แย้งของพรรคก้าวไกล จึงไม่สามารถรับฟังได้
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังชี้แจงอีกว่า ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ระบุพฤติการณ์พรรคก้าวไกลหลายประการ ทั้งการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้เป็นนโยบายดังกล่าวหาเสียง มีการชุมนุมเรียกร้องเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง ซึ่งหากปล่อยให้พรรคก้าวไกลดำเนินการต่อไป อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ ซึ่งถือว่า ความผิดสำเร็จตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 แล้ว พร้อมยืนยันว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงดังกล่าวอย่างเข้มข้นแล้ว โดยเฉพาะในการออกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานใหม่
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังอธิบายอีกว่า การเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ต่อสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว เป็นการกระทำลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยได้เสนอเป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และนโยบายนี้ ได้ปรากฏบนเว็บไซต์ จึงนับได้ว่า พรรคก้าวไกล ได้ร่วมกันเสนอนโยบายดังกล่าว และยื่นต่อ กกต.เป็นนโยบายหาเสียง รวมถึงใช้หาเสียงหลายครั้ง และเป็นนายประกัน รวมถึงกระทำผิดกฎหมายดังกล่าวเสียเอง แม้ผู้ดำเนินการ จะไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคโดยตรง แต่กรรมการบริหารพรรค ก็ต้องดำเนินการยับยั้ง ดังนั้น จึงจะอ้างเป็นการกระทำเฉพาะบุคคล เพื่อเลี่ยงกระทำความผิดไม่ได้
ส่วนข้อโต้แย้งการกระทำของพรรคก้าวไกล ไม่เป็นการล้มล้างปกครอง หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง และไม่จำเป็นต้องยุบพรรคก้าวไกลนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า พรรคก้าวไกล ได้อ้างข้อเท็จจริงถึงการเข้าชื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ สส.พรรคก้าวไกล มีเนื้อหาให้เปลี่ยนฐานความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงรัฐ และมีการยกเว้นความผิด และยกเว้นโทษ รวมถึงให้ความผิด ตามกฎหมายดังกล่าว 112 เป็นความผิดยอมความได้ จึงไม่ได้เป็นการลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ และไม่ได้แยกสถาบันออกจากความเป็นชาติ แต่เพื่อให้สอดคล้องหลักสากล และ กกต.เองก็ไม่เคยยับยั้งการดำเนินการของพรรคก้าวไกลนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่พรรคก้าวไกลอ้าง เป็นข้อเท็จจริงเดิม ที่พรรคก้าวไกล เคยหยิบยกมาต่อสู้ในคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 แล้ว ดังนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ รับฟังเป็นที่สิ้นสุดแล้วว่า พฤติกรรมของพรรคก้าวไกล เป็นการกระทำล้มล้างการปกครอง และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันทุกองค์กร ดังนั้น คำวินิจฉัยดังกล่าว ก็ต้องผูกพันกับคดีนี้ของศาลรัฐธรรมนูญด้วย
นอกจากการยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ของพรรคก้าวไกลแล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังเห็นว่า ยังมีพฤติการณ์ที่กรรมการบริหารพรรค, สส., และสมาชิก เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และยังเป็นนายประกัน หรือกระทำความผิดเสียเอง และรณรงค์แก้ไขและยกเลิก มาตรา 112 โดยมีเจตนามุ่งหมายแยกสถาบัน ออกจากความเป็นชาติ จึงเป็นภัยความมั่นคง และหวังใช้สถาบันมาหาเสียงเลือกตั้ง ทำให้สถาบันถูกโจมตี ทำร้ายจิตใจชาวไทย ที่เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเป็นศูนย์รวมความเป็นชาติ และนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ ได้ ซึ่งเป็นไปตามคำร้องศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ดังนั้น จึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกล กระทำการขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (1) และ (2) อันเป็นเหตุให้ยุบพรรคก้าวไกล พร้อมตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคฯ เป็นเวลา 10 ปี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
ทั้งนี้ คำสั่งยุบพรรคก้าวไกลดังกล่าว ส่งผลให้ สส.ของพรรคฯ ที่ไม่ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง จะต้องหาสังกัดพรรคการเมืองใหม่ภายใน 60 วัน ส่วนกรรมการบริหารพรรคฯ ที่ถูกตัดสิทธินั้น นายชัยธวัช จะต้องพ้นจาก สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมพ้นจากตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, นายปดิพัทธ์ พ้นจากสมาชิกสภา สส.พิษณุโลก พรรคเป็นธรรม ในฐานะอดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล พร้อมพ้นจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และจะต้องจัดการเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลก เขตการเลือกตั้งที่ 1
©2018 CK News. All rights reserved.