"ในหลวง-พระราชินี" ทอดพระเนตรการแสดงอุปรากร "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" เฉลิมพระเกียรติฯ


24 ก.ค. 2567, 06:45

"ในหลวง-พระราชินี" ทอดพระเนตรการแสดงอุปรากร "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" เฉลิมพระเกียรติฯ




วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เวลา 19.46 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการแสดงอุปรากร "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" (Madama Butterfly) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา องค์อุปถัมภ์มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกชิมโฟนีออร์เคสตร้า และองค์ประธานจัดงานการแสดงอุปรากร "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" (Madama Butterfly) ฯ ทรงเฝ้าฯ รับเสด็จ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 

เมื่อเสด็จเข้าหอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ทอดพระเนตรนิทรรศการ "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" บริเวณโถงรับรอง (LOBBY) ชั้น 1 ซึ่งมาดามบัตเตอร์ฟลาย (Madama Butterfly) เป็นบทประพันธ์ของ จาโคโม ปุชชินี (Giacomo Puccini) คีตกวีชาวอิตาเลียน เป็นอุปรากรที่แสดงถึงความรักระหว่างสาวเกอิชาชาวญี่ปุ่น กับทหารเรือหนุ่มชาวอเมริกัน ที่ยึดมั่นในความรักด้วยการสละชีวิตเพื่อรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตน เปิดการแสดงครั้งแรกเมื่อปี 1904 ที่โรงอุปรากรลา สกาลา ในเมืองมิลาน และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งการแสดงอุปรากรที่ดีที่สุดในโลก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรอุปกรณ์อุปรากรเรื่องนี้ ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งได้กลายเป็นแรงบันดาลพระทัย แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้านราธิปประพันธ์พงศ์ในการทรงประพันธ์ละครเพลงเรื่องสาวเครือฟ้า ดังนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในฐานะองค์อุปถัมภ์มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกชิมโฟนีออร์เคสตร้า และองค์ประธานจัดงานการแสดงอุปรากร "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" (Madama Butterfly)จึงทรงมีพระดำริให้จัดการแสดงนี้ขึ้นมาเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในฐานะทรงองค์อุปถัมภ์มูลนิธิรอยัลแบงค์คอกชิมโฟนีออร์เคสตร้า และองค์ประธานจัดงานการแสดงอุปรากร "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" และผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ แบรนด์ SIRIVANNAVARI  ทรงออกแบบเครื่องแต่งกายทั้งหมด จำนวย53 ชุด อันแสดงถึงพระวิสัยทัศน์ ด้านศิลปะและการออกแบบเครื่องแต่งกายของอุปรากร นับเป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นจากผืนผ้าที่ได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนาน รวมถึงการออกแบบลวดลายอย่างวิจิตรงดงาม ภายใต้การออกแบบของแบรนด์ SIRIVANNAVARI 

จากนั้นเสด็จฯไปยังหอประชุมใหญ่ (ชั้น2) พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ฯ  แล้วทอดพระเนตรการแสดงอุปรากร "มาดามบัตเตอร์ฟลาย" ทั้งหมด3 องก์  ซึ่งเป็นบทประพันธ์ดนตรีของ จาโคโม ปุชชินี (Giacomo Puccini) ชาวอิตาเลียน บทคำร้องเป็นภาษาอิตาเลียน โดย ลุยจิ อิลลิกา (Luigi Illica) และจูเซปเป้ จาโกซา (Giuseppe Giacosa) เป็นอุปรากรที่แสดงถึงความรักระหว่างสาวเกอิชาชาวญี่ปุ่นกับทหารเรือหนุ่มชาวอเมริกัน ที่ยึดมั่นในความรัก โดยการสละชีวิตเพื่อรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของตน อุปรากรเรื่องนี้ได้ถูกนำออกแสดงครั้งแรกที่โรงอุปรากรสกาลา ในกรุงมิลาน ประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ.1904 (พ.ศ. 2447) เป็นโอเปร่าเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมนำออกแสดงมากที่สุด10 อันดับแรกของโลก

ภายหลังจบการแสดง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ พลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโตผู้ช่วยราชเลขานุการในพระองค์ ฯ เชิญช่อดอกไม้พระราชทานถวายแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และมอบให้แก่ศิลปินที่ร่วมแสดงในครั้งนี้

โดยการแสดงครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ  ทรงรับเป็นผู้อำนวยการแสดง (Executive Producer) ทรงคัดเลือกคณะนักแสดงจาก Opera Production กรุงเวียนนา และเปิดคัดเลือกนักแสดงไทยในบทนักแสดงสมทบ และนักร้องประสานเสียง ที่สำคัญการแสดงครั้งนี้ ชุดของนักแสดงออกแบบใหม่ทั้งหมด โดยแบรนด์ SIRIVANNAVARI นำโดยองค์ครีเอทีฟไดเรคเตอร์ ทรงออกแบบเสื้อผ้าจำนวน 14 ชุด ด้วยพระองค์เอง สำหรับ 9 ตัวละครหลักทั้งชายหญิง  คือ โจโจ้ซัง (Cio Cio San) นางเอก, พิงเคอร์ตัน (Pinkerton) พระเอก, ซูซูกิ (Suzuki) พี่เลี้ยง, ยามาโดริ (Yamadori) เจ้าชาย, เคท พิงเคอร์ตัน (Kate Pinkerton) ภรรยาใหม่, บอนโซ (Bonzo) พระญี่ปุ่น, โกโร (Goro) พ่อสื่อ, ชาร์พเลส (Sharpless) เพื่อนพระเอก และคอมมิสซาริโอ (Commissario) ขุนนางญี่ปุ่น และอีก 40 ชุด โดยทีมงานของแบรนด์ SIRIVANNVARI ภายใต้แนวคิดทรงกำหนดของพระองค์ท่าน  นอกจากนี้ ยังทรงมีส่วนร่วมในการออกแบบฉากเวที ร่วมกับทีมงานจากเวียนนาอีกด้วย 





คำที่เกี่ยวข้อง : #ในหลวง-พระราชินี  









©2018 CK News. All rights reserved.