วันนี้ ( 20 มิ.ย.67 ) นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงความคืบหน้าผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธาน และมีการแต่งตั้งอนุกรรมการอีกหลายชุด เพื่อตรวจสอบความเป็นมาและสามารถแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต
นายวิษณุ กล่าวว่า ผลการตรวจสอบพบว่ามีความขัดแย้งและความไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจริง มีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจในทุกระดับ ทุกฝ่าย จนเกิดเป็นคดีต่างๆและฟ้องร้องกัน ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความเกี่ยวพันกับพลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ โดยมีคดีที่สำคัญยกตัวอย่างเช่น คดีกำนันนก คดี140ล้าน คดีที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งได้มีการส่งเรื่องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบางเรื่องได้ส่งไปดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว ซึ่งไม่มีคดีตกค้างที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
นายวิษณุ ระบุเพิ่มเติมถึง กรณีของพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ มีคำสั่งให้กลับไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 และในวันเดียวกันนี้ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้น เพื่อสอบสวนทางวินัย และมีคำสั่งให้พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งเป็นการสั่งตามแบบที่เคยสั่งกันในอดีตตามมาตรา 132 อย่างไรก็ตาม หากการสั่งให้ตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน กระทบต่อสิทธิประโยชน์ของบุคคลนั้น จะต้องกระทำโดยคำแนะนำหรือเสนอแนะจากคณะกรรมการสอบสวนฯ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติ 10-0 ว่า การสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนที่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ และไม่ผ่านคณะกรรมการสอบสวน เห็นว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบทำ จึงเห็นสมควรให้มีการจัดการแก้ไขให้ถูกต้องให้เป็นอำนาจของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการต่อไป
ด้าน พลเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล เห็นสมควรให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ออกคำสั่ง ให้กลับไปปฎิบัติราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในตำแหน่งหน้าที่เดิม เนื่องจากสอบสวนแล้วเสร็จ ไม่มีข้อที่จะต้องตรวจสอบอีก ส่วนคดีอื่นๆ ก็ให้เป็นไปตามกระบวนการของแต่ละหน่วยงาน ส่วนจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบเพิ่มเติมหรือไม่ ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้รับทราบผลการสอบสวนทั้งหมดแล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานกฤษฎีกา และกระทรวงยุติธรรม ตรวจสอบในเรื่องของอำนาจชี้ขาดว่าคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นอำนาจของหน่วยงานใด เพื่อที่จะดำเนินการต่อไปให้ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการที่เข้ามาตรวจสอบครั้งนี้ซึ่งเป็นการตรวจสอบข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงไม่ได้ชี้ว่าใครถูกใครผิด แต่ได้รายงานนายกรัฐมนตรีที่พบเห็นความยุ่งยากสับสนระหว่างอำนาจการสอบสวนของหน่วยงานหลายหน่วยที่คาบเกี่ยวกัน บางเรื่องอยู่ในอำนาจของ ปปท. ปปง. ป.ป.ช. พนักงานสอบสวน ซึ่งคดีทุจริตมีเจ้าภาพหลายรายเกินไป แม้เจ้าภาพใหญ่จะคือ ป.ป.ช.
นายวิษณุ ระบุว่า ในส่วนของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สถานภาพขณะนี้ยังอยู่ระหว่างนำความกราบบังคมทูล ให้ออกจากราชการไว้ก่อนนั้น ซึ่งก่อนถึงขั้นตอนนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ต้องตรวจสอบว่าได้ทำถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ และคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) อยู่ระหว่างพิจารณากรณีดังกล่าว หลัง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยื่นคำร้องไว้
"ยืนยันว่าจะต้องแก้ไขความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เพราะเวลาที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายมีการพูดคุยกันมากพอสมควร ก็คณะกรรมการเข้าไปไกล่เกลี่ยในบางเรื่อง ยืนยันว่าไม่มีมวยล้มต้มคนดูอย่างแน่นอน" นายวิษณุ กล่าว
นายกรัฐมนตรีขอให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองในการทำงาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนไม่ให้เกิดการเสื่อมศรัทธาต้องร่วมกันแก้ไขทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
©2018 CK News. All rights reserved.