มจร ร่วมภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติ วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ ๑๙


20 พ.ค. 2567, 17:00

มจร ร่วมภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมวิสาขบูชานานาชาติ วันสำคัญสากลของโลก ครั้งที่ ๑๙




วันที่ 19 พฤษภาคม 2567  เวลา 15.00-17.00 น. มีการประชุมสัมมนากลุ่มย่อย แบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีเนื้อหาสำคัญในการนำพระพุทธศาสนามาประยุกต์ในชีวิตประจำวัน สรุปได้ดังนี้ กลุ่ม 1 การประยุกต์ใช้การเจริญสติแบบพุทธเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Application of Buddhist Mindfulness for Health and Wellbeing) การประยุกต์ใช้การเจริญสติแบบพุทธเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เน้นการฝึกฝนด้วยการมีความกรุณา มีสติอยู่ทุกขณะ มีศีลธรรม และความเห็นอกเห็นใจ ด้วยการพัฒนาปัญญาที่มีประสิทธิภาพ การเจริญสติช่วยให้บุคคลสามารถจัดการกับความทุกข์และการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรู้เท่าทัน นอกจากนี้ ให้มีการส่งเสริมการพัฒนาตนเองผ่าน Life Coach และการให้คำปรึกษเน้นความสัมพันธ์ที่ดีและความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น

ในแต่ละประเทศ เช่น ศรีลังกา จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น การประยุกต์ใช้การเจริญสติแตกต่างกันไปตามบริบทและวัฒนธรรม เช่น ในประเทศศรีลังกา การเจริญสติช่วยรับมือกับความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ โรคระบาด COVID-19 ส่วนในสหรัฐอเมริกามีโปรแกรมการเจริญสติที่เป็นระบบ สำหรับญี่ปุ่น การเจริญสติแบบผสมผสานกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายตามพิธีกรรมท้องถิ่น การเจริญสติช่วยให้บุคคลมีอิสรภาพทางจิตใจและสามารถเผชิญกับความท้าทายได้อย่างมั่นใจ

กลุ่ม 2 พุทธวิธีสู่ศรัทธาไว้วางใจและความร่วมมือระดับโลก(Buddhist Path to Trust and Global Partnership) พุทธวิธีเพื่อสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือระดับโลก เน้นการเริ่มต้นด้วยความเมตตาและการฝึกเจริญสติในการรับมือกับปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การฝึกเจริญสติช่วยให้คนใช้ชีวิตด้วยความเห็นอกเห็นใจและความจริงใจ นอกจากนี้ การส่งเสริมความคิดแบบสร้างสรรค์และการก้าวข้ามทางศาสนาช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพระพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมได้

การนำพุทธศาสนามาปรับใช้ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เช่น ในศรีลังกาเน้นความซื่อตรงและเศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ ส่วนในสหราชอาณาจักรเน้นการใช้พุทธศาสนาในการพัฒนาสุขภาพจิตและการใช้เวลาที่มีค่า ในเอเชียกลางและภาคพื้นทวีปการใช้ทางสายกลางและการมีสติช่วยเสริมสร้างกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ขณะที่ในไทยมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือให้เกิดขึ้นในระดับโลก 

กลุ่ม 3 "พุทธศึกษาเพื่อสังคมสงบที่ยั่งยืน" (Relevance of Buddhist Education for Harmonious Society) การศึกษาแบบพุทธเน้นให้ความสำคัญในการสร้างสังคมที่สงบสุขและยั่งยืน เน้นการปฏิบัติตามหลักสาราณียธรรม 6 ประการ และอปหาริยธรรม 7 ซึ่งช่วยให้ทุกชีวิตมีความสุขและปรับตัวเข้าใกล้ชิดในแนววิถีพุทธ นอกจากนี้ การศึกษาแบบพุทธยังเน้นความสำคัญของอริยสัจ 4 และมรรค 8 ซึ่งเป็นแนวทางในการสร้างความสันติสุขในสังคม รวมถึงการพัฒนาตนเองด้วยการมีเมตตาและมีความกรุณาในจิตใจ ในแต่ละประเทศมีการนำพุทธศึกษามาปรับใช้เพื่อให้เกิดสังคมที่สงบสุข เช่น ในมาเลเซีย การศึกษาเน้นการพัฒนาคุณธรรมและการนั่งสมาธิเพื่อเสริมสร้างการรับรู้และการควบคุมอารมณ์อย่างมีสติ  ในศรีลังกา การศึกษาเน้นการพัฒนาทั้งทางกาย ใจ และปัญญา โดยใช้หลักอริยสัจ 4 และมรรค 8 และในอินเดีย การศึกษาพุทธศาสนาเน้นการสร้างความรักและความเมตตา เพื่อเสริมสร้างความสงบสุขในสังคม




 











©2018 CK News. All rights reserved.