วันที่ 22 เมษายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 80 (The 80th Session of the United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) โดยนางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติในการเป็นประธานเปิดการประชุมประจำปีของ ESCAP สมัยที่ 80 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในเอเชีย-แปซิฟิก" (Leveraging digital innovation for sustainable development in Asia and the Pacific) โดยประเทศไทยมีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ในการเป็นศูนย์ปฏิบัติงานประจำภูมิภาคของบุคลากรและตัวแทนของ UN มากกว่า 5 พันคน สะท้อนบทบาทและความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ
สำหรับหัวข้อการประชุมในครั้งนี้เหมาะสมและสอดคล้องกับปัจจุบัน โดยการประชุม SDG Summit และการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ณ นิวยอร์ก ในปีที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีประทับใจกับความร่วมมือกันระหว่างสหประชาชาติกับประเทศสมาชิก ในการดำเนินมาตรการเชิงรุก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2030 พร้อมเชื่อว่า หากทุกประเทศมีเจตนารมณ์และลงมือปฏิบัติร่วมกันอย่างจริงจังจะทำให้บรรลุเป้าหมาย เพื่ออนาคตที่เจริญรุ่งเรืองของทุกคน
ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เป็นภูมิภาคที่มีชีวิตชีวาและมีพลวัต อย่างไรก็ตาม การดำเนินการในปัจจุบันจะไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ได้ จนกว่าจะถึงปี 2062 จึงจำเป็นต้องแสวงหาวิธีใหม่ ๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเร่งด่วน โดยนายกรัฐมนตรีมองเห็นถึงความสำคัญของการนำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพดีขึ้น ในราคาถูกลง พร้อมเสนอแนวทาง 2 ประการ สำหรับการดำเนินการทางนวัตกรรมดิจิทัล ดังนี้
1. การส่งเสริมศักยภาพให้กับคนและชุมชน ผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล โดยยึดคนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ Ignite Thailand มุ่งส่งเสริมนวัตกรรมดิจิทัล ควบคู่กับการพัฒนาใน 8 ด้าน นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล ซึ่งครอบคุลมไปถึงกลุ่มเปราะบาง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับผู้คนและชุมชน พร้อมขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืน
สำหรับประเทศเกษตรกรรมหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลถือเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร จึงจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมทางการเกษตร สิ่งนี้จะพัฒนาไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน การทำฟาร์มเกษตรอัจฉริยะที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
2. การจัดการความเสี่ยงจากนวัตกรรมดิจิทัล แม้การใช้นวัตกรรมดิจิทัลจะมีประโยชน์อย่างมาก แต่ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน นายกรัฐมนตรีขอให้ร่วมกันหามาตรการจัดการปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล รวมไปถึงความร่วมมือเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีการใช้นวัตกรรมดิจิทัลที่ปลอดภัย มั่นคง และเท่าเทียม
นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำถึงบทบาทของ ESCAP ต่อการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมมองว่า ศักยภาพและโอกาสของความร่วมมือจะยังเติบโตได้อีกมาก ซึ่งไทยพร้อมที่จะสนับสนุน และส่งเสริมการดำเนินการร่วมกันของ ESCAP ซึ่งจะส่งผลประโยชน์อย่างมหาศาลต่อภูมิภาคนี้ รวมถึงเสนอให้ประเทศสมาชิกแลกเปลี่ยนความรู้ และแนวปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล และนำไปสู่การพัฒนาอย่างอย่างยั่งยืนที่รวดเร็วมากขึ้น
ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDGs และหวังว่าจะนำแนวความคิดจากการประชุมครั้งนี้ เปลี่ยนไปสู่แนวนโยบายเพื่อปฏิบัติร่วมกันในระดับชาติและภูมิภาคต่อไป พร้อมเชื่อมั่นว่า ผลลัพธ์ของการประชุมฯ จะสามารถนำไปต่อยอดในการประชุม High-Level Political Forum การประชุม Summit of the Future และ Global Digital Compact ในปีนี้ ซึ่งไทยพร้อมเสริมสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล และสนับสนุนความร่วมมือกับ ESCAP เพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันต่อไป
©2018 CK News. All rights reserved.