รู้จัก “หมักม่อ” ไม้ป่าดอกสวยบานเต็มต้น หาชมได้ที่อุทยานแห่งชาติตาดโตน จังหวัดชัยภูมิ


19 เม.ย. 2567, 17:28

รู้จัก “หมักม่อ” ไม้ป่าดอกสวยบานเต็มต้น หาชมได้ที่อุทยานแห่งชาติตาดโตน จังหวัดชัยภูมิ




ต้นไม้ในป่าที่ออกดอกสวยบานเต็มต้น อีกชนิดหนึ่งที่อยากแนะนำให้รู้จักคือ ต้นหมักม่อ ด้วยดอกที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่สีขาว ทรงระฆังคว่ำลงคล้ายกระดิ่งที่แขวนอยู่ตามกิ่ง มักออกดอกเต็มต้น เมื่อมองขึ้นไปจึงมีความสวยโดดเด่นเป็นพิเศษ และพบเห็นได้ทั่วไปตามตาดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ และป่าเต็งรังทั่วไป โดยเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติตาดโตน จังหวัดชัยภูมิ จะพบต้นหมักม่อเรียงรายตามสองข้างทางเดินไปยังตัวน้ำตกตาดโตน จะถือเป็นดอกไม้เด่นประจำอุทยานแห่งชาติตาดโตนเลยก็ว่าได้
หมักม่อ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ridsdalea wittii (Craib) Bremek.
วงศ์ : RUBIACEAE
ลักษณะทั่วไป :  เป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก สูง 6-8 เมตร เปลือกสีน้ำตาลอมดำ กิ่งอ่อนมีขนอ่อนสีน้ำตาลแดงปกคลุมหนาแน่น แตกกิ่งเป็นชั้น คล้ายกับฉัตร มีทรงพุ่มกลม โปร่ง ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม เป็นคู่ ใบรูปขอบขนาน หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 12-16 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ใบค่อนข้างนิ่ม มีขนาดใหญ่ และเห็นเส้นแขนงใบชัดเจน หูใบอยู่ระหว่างก้านใบ ปลายใบ และโคนใบแหลม ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด สีขาวนวล กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง มีดอกย่อย 5-12 ดอก ดอกย่อยรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 กลีบ และบานโค้งงอกลับ โคนกลีบด้านในมีแต้มสีเขียวและแถบประสีม่วงเข้ม ดอกบานคว่ำลง เมื่อบานมีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอก 3-5 เซนติเมตร  มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ผลสด รูปทรงกลม ขนาด 3-4 เซนติเมตร เปลือกผลเรียบ แข็ง มีรอยตะเข็บสีน้ำตาลเป็นสันเล็กน้อย แบ่งครึ่งลูก เนื้อผลมีรสหวานเล็กน้อย มีสีเขียวเข้ม เมื่อแก่สีดำ มีเมล็ดจำนวนมาก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ ป่าดิบแล้ง ป่าโปร่ง และป่าละเมาะ
 
อ้างอิง : https://apps.phar.ubu.ac.th/phargarden/main.php...
บทความ : กลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา)
ภาพถ่าย : วิษณุรักษ์ ศรีบัณฑิต นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ
สถานที่ : อุทยานแห่งชาติตาดโตน - Tatton National Park














©2018 CK News. All rights reserved.