วันที่ 27 ก.พ. 2567 นพ.เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จ.สงขลา แจ้งเตือนประชาชน ลงเล่นน้ำทะเลฝั่งอ่าวไทย ระวัง แมงกะพรุนหัวขวด โดยระบุ เดือน ม.ค.-มี.ค.เป็นช่วงการระบาดของแมงกะพรุนหัวขวด สกุล Physalia บริเวณชายทะเลฝั่งอ่าวไทย จัดเป็นแมงกะพรุนชนิดที่มีพิษร้ายแรง พิษของแมงกะพรุนหัวขวด มีผลต่อระบบประสาท หัวใจ และผิวหนัง ส่วนใหญ่ผู้ที่สัมผัสพิษจะมีอาการคัน และปวดแสบปวดร้อนในเบื้องต้น การแสดงอาการของพิษในผู้ป่วยแต่ละบุคคลความรุนแรงจะต่างกัน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกาย ความต้านทาน และปริมาณพิษที่ได้รับ
แมงกะพรุนมีลักษณะส่วนบนลอยโผล่พ้นน้ำคล้ายลูกโป่งรูปร่างรียาว คล้ายหมวกของทหารเรือชาวโปรตุเกส มีหนวดยาวสีฟ้าหรือสีม่วง มีเข็มพิษ สำหรับป้องกันตัวและจับเหยื่อ กระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณหนวด
ตั้งแต่ 1 ม.ค.-18 ก.ค.2566 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จากการสัมผัสแมงกะพรุน 2 ราย เนื่องจากการลงไปเล่นน้ำทะเล บริเวณชายหาดสมิหลาและชายหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา ส่วนปี 2567 ยังไม่ได้รับรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสัมผัสแมงกะพรุน
ทั้งนี้ หากเจอแมงกะพรุน ห้ามจับ หรือสัมผัสโดยเด็ดขาด วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากได้รับบาดเจ็บจากพิษแมงกะพรุน แนะนำให้ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนอย่างน้อย 30 วินาที และให้รีบนำผู้ป่วยส่งรพ.ทันที
เมื่อพบผู้บาดเจ็บจากการถูกพิษแมงกะพรุน ห้ามใช้น้ำแข็ง น้ำเปล่า เหล้า โซดา หรืออื่นๆ ไปเทราดเป็นอันขาด เนื่องจากจะกระตุ้นพิษให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ห้ามถูหรือขยี้ เพราะจะทำให้พิษยิ่งแพร่กระจายมากขึ้น ที่สำคัญเลี่ยงการใช้เทคนิคพันรัดแน่นด้วยผ้ายืด และอย่าเก็บแมงกะพรุนที่ตายแล้วด้วยมือเปล่าหรือนำมาเล่น เพราะต่อมพิษยังสามารถปล่อยพิษได้
©2018 CK News. All rights reserved.