ชาวบ้านบุกศาลากลาง ร้องผู้ว่า ที่ดินออก นสล.ทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ที่ก่อตั้งชุมชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462


20 ธ.ค. 2566, 17:09

ชาวบ้านบุกศาลากลาง ร้องผู้ว่า ที่ดินออก นสล.ทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ที่ก่อตั้งชุมชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462




 วันนี้ 19 ธ.ค. 66 เมื่อเวลา 09.00 น.บริเวณลานหน้าศูนย์ราชการจังหวัดสุรินทร์ ตำบลเฉนียง  อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ได้มีชาวบ้านจากตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ 4 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านหนองหว้า , กระโพธ์ , ไทร และบ้านหนองแคน ประมาณ 100 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เรื่องขอให้ผู้ว่าฯเร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดิน นสล.(หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง)ป่าโคกหนองแกรงทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน พร้อมแนบข้อมูลประวัติชุมชน ,ข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลรายชื่อผู้เดือดร้อน

โดยเนื้อหาหนังสือระบุ ด้วยประชาชนชาวบ้านหนองหว้า บ้านกระโพธ์ บ้านไทร และบ้านหนองแคน ในเขตตำบลหนองไผ่ล้อมอำเภอสำโรงทาบ มีความต้องการเอกสารสิทธิ์ (โฉนด) ในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของตัวเอง เพื่อความมั่นคงของชีวิต อันเป็นมรดกตกทอดอันชอบธรรมมาจากบรรพบุรุษ ที่ก่อตั้งชุมชนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 จนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมานั้นชาวบ้านได้ยื่นเรื่องเพื่อทำการออกเอกสารสิทธิ์มีเจ้าหน้าที่มาทำการรังวัดที่ดินในช่วงปี 2556-2557แต่ก็ไม่สามารถออกเอกสารโฉนดได้จนถึงปัจจุบันนี้ เพราะที่อยู่อาศัยและที่ทำกินที่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษนั้นอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสาธารณะประโยชน์ โคกหนองแกรง เนื้อที่ 1,432 ไร่ ดังนั้นประชาชนชาวบ้านหนองหว้า บ้านกระโพธ์ บ้านไทร และบ้านหนองแคน ในเขตตำบลหนองไผ่ล้อมอำเภอสำโรงทาบจึงขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เร่งรัดและดำเนินการแก้ไขปัญหาในที่ดินดังกล่าวของประชาชนผู้เดือดร้อนอย่างมีส่วนร่วมและเป็นธรรม จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

 โดยมีนายชำนาญ  ชื่นตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เป็นผู้รับหนังสือจากนายนายเจษฎา วารี  ตัวแทนชาวบ้านที่เดือดร้อน ทั้งนี้ทางด้านนางสาวศิริรัตน์ ทรัพย์ไพบูลย์  เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ ก็ได้ให้ข้อมูลถึงที่มาที่ไปและข้อระเบียบกฎหมายเกี่ยวกับการออก นสล.ว่า ที่ดินบริเวณนี้เรียกว่าโคกหนองแกรงสาธารณะ ซึ่งมีประกาศหวงห้ามไว้เมื่อปี 2463 มีการประโดยชอบแล้ว และเมื่อปี 2528 ได้มีการออกรังวัด นสล.ซึ่งในเอกสารไม่มีใครคัดค้าน ประกาศออก นสล.เรียบร้อย ผู้ว่าฯลงนามเมื่อปี 2531 แล้วเมื่อปี 2559 ทางอำเภอและ อบต.ได้เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ ก็ได้เสนอโครงการบริหารจัดการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ตามนโยบาลของรัฐบาลที่จะจัดที่ดินทำกินให้กับประชาชนที่เข้าอยู่อาศัยในที่สาธารณะ ช่างรังวัดของกรมก็มารังวัดออกให้เมื่อปี 2559 ประมาณ 320 รายที่ยอมเข้าร่วมโครงการ และมีกลุ่มที่ไม่เข้าร่วมโครงการ และกรมฯก็ถามกลับมาว่ายังคัดค้านอยู่ไหม ถ้าประชาชนยังคัดค้านอยู่เขาก็จัดเฉพาะส่วนที่ไม่มีการคัดค้าน 300 กว่าราย ต่อมาชาวบ้านไปค้นหาหลักฐานพบก็มายื่นขอ ก็เป็นการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ ตอนนี้ก็ให้ที่ดินสาขาย่อยสำโรงทาบจัดส่งเอกสารเข้ากรมฯเพื่ออ่านแปลภาพถ่ายให้ เมื่อได้ข้อมูลครบก็จะนำเข้าสู่ คพร. แต่ต้องบอกว่าการมี สค.1 แล้วท่านจะได้สิทธิครอบครองทันที สค.1 ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แต่อย่างใดถ้าไปแจ้งในที่สาธารณะ ไม่สามารถนำไปออกโฉนดได้ ตามข้อกฎหมาย แต่ถ้าชาวบ้านยื่นเข้ามาเราก็ไม่ตัดสิทธิ เราจะนำเขาสู่ขบวนการให้ เราจะเร่งรีบสาขาส่วนแยกจัดเอกสารให้ครบแล้วเราจะส่งกรมฯ ในเดือนมกราคม ปีหน้า จะส่งให้เป็นหมู่เลยไม่ส่งเป็นแปลง สิทธิของพี่น้องได้อย่างไรก็จะได้ตามเอกสาร แต่จะได้แค่ไหนมันอยู่ที่เอกสารหลักฐานสอบสวนประกอบด้วย

 ด้านชาวบ้านที่มาก็ได้กล่าวถึงส่วนราชการว่า อยากให้มีการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ ของที่ดินที่ไม่รู้ว่าใช้มาตั้งแต่สมัยแล้วไม่เคยใช้หลักเกณฑ์ใหม่เลย ตัวแผนที่ก็ตั้งแต่สมัยไหนแล้ว และแผนที่ไม่ละเอียดเนื่องด้วยเทคโนโลยีในสมัยนั้น รวมถึงการออกประกาศ นสล.ปี 2463 ถ้านึกย้อนหลับไปสมัยนั้น คือยุกบ้านป่าไม่มีไฟฟ้า ใช้เกวียนในการเดินทาง เวลามีประกาศจากอำเภอหรือให้ไปออกโฉนด หรืออะไรต่างๆก็ติดอยู่ที่อำเภอ ชนบทสมัยนั้นยังไม่เจริญ เอกสารก็ไปไม่ถึงชาวบ้านจึงไม่เกิดการคัดค้านขึ้นในสมัยนั้น เพราะคนไม่รู้ มันจึงทำให้เกิดปัญหาคาราคาซังกันมาถึงทุกวันนี้ ซึ่งมันถึงเวลาที่ต้องปรับหลักเกณฑ์กันได้แล้ว

 อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่มาก็ยังคงปักหลักเพื่อรอคำตอบและขบวนการขับเคลื่อนที่ชัดเจน เพื่อที่ชาวบ้านจะได้นำไปยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำมาซึ่งการได้ที่ดินครอบครองที่เป็นเอกสารสิทธิหรือโฉนดต่อไป
ต่อมา15.30 น.กลุ่มชาวบ้านพร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีการร่วมกันลงนามบันทึกข้อหารือร่วมกัน เพื่อให้เห็นถึงความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับชาวบ้านอย่างจริงจัง รวมทั้งหลักเกณฑ์แนวทางขบวนการพิสูจน์สิทธิ์ที่เป็นปัญหา เพื่อให้ผู้มีอำนาจในการปรับปรุงแก้ไข เพื่อความเป็นธรรมแก่ชาวบ้าน ก่อนที่ชาวบ้านจะแยกย้ายกันกลับ














©2018 CK News. All rights reserved.