"อภัยภูเบศร"ร่วมกับสภาเภสัชกรรม ชูนโยบาย สร้างเศรษฐกิจสุขภาพด้วยนวัตกรรมสมุนไพร เพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย


12 ต.ค. 2566, 12:21

"อภัยภูเบศร"ร่วมกับสภาเภสัชกรรม ชูนโยบาย สร้างเศรษฐกิจสุขภาพด้วยนวัตกรรมสมุนไพร เพื่อตอบโจทย์สังคมสูงวัย




วันที่ 12 ต.ค.2566 ในการประชุมทิศทางการพัฒนาระบบยาและเภสัชกรรมประเทศไทย ยุคดิจิทัล จัดโดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสภาเภสัชกรรม ระหว่างวันที่ 11-12 ตุลาคม ณ อิมแพคเมืองทองธานี โดยสภาเภสัชกรรม ได้มีการติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยี เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพเภสัชกรรม ตามนโยบาย ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เน้นให้สร้างเศรษฐกิจสุขภาพ  โดยสมุนไพรเป็นเป้าหมายหนึ่งในการนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  เพื่อดึงเงินเข้าประเทศ และลดรายจ่ายจากการนำเข้ายาและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศทั้งนี้  ภายในงานดังกล่าว โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และ มูลนิธิรพ. เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ฯ นำโดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิฯ ได้นำเสนอนวัตกรรมจากสมุนไพรที่มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ โดยระบุว่าอภัยภูเบศร สนับสนุนเกษตรกรในการเพาะปลูกมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กระบวนการวิจัยและพัฒนายาโดยเภสัชกรตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ได้ยาจากสมุนไพรที่มีคุณภาพ ใช้รักษาได้ผล และปลอดภัย  รวมทั้งกระบวนการศึกษายาในมนุษย์ตามมาตรฐาน International Conference on Harmonization



“จากการประเมินจากบริษัท Impact Investment Exchange Pte. Ltd ในปี 2019 คาดการณ์ว่านวัตกรรมสมุนไพรอภัยภูเบศรก่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อสังคม ตั้งแต่เกษตรกร แรงงานในพื้นที่ การสร้างเศรษฐกิจชุมชนและประโยชน์แก่ผู้บริโภค โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะสามารถสร้างเศรษฐกิจจากนวัตกรรมสมุนไพรได้อย่างแน่นอน” ดร.สุภาภรณ์ กล่าว

ดร.สุภากรณ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันทางมูลนิธิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และมหาวิทยาลัยมหิดล กำลังร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ  อาทิ  การวิจัยเพชรสังฆาตที่เราทำทั้งห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว แปรรูป  การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยกระดูกพรุนและกระดูกบาง  ซึ่งการศึกษาเบื้องต้นและการใช้ทางคลินิก พบว่า การเสริมการรักษาด้วยเพชรสังฆาตช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้  และปัจจุบันมีต่างประเทศให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์นี้ ถึงขั้นมาขอซื้อไปจำหน่าย ซึ่งเราคงต้องนำไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องก่อน

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันทำวิจัยภาวะอ้วนลงพุง  เบื้องต้นพบว่ากระชาย ที่เป็นอาหารของคนไทยและทั่วโลกมาอย่างยาวนาน  พบว่าช่วยลดการดูดซึมไขมันในทางเดินอาหาร  ซึ่งกำลังวางแผนทำวิจัยเพิ่มเติม เพื่อศึกษาฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดภาวะอ้วนลงพุง เพราะมีการศึกษาในต่างประเทศ พบว่ากระชายมี 5 กลไกในการยับยั้งการเกิดภาวะอ้วนลงพุง ได้แก่ การควบคุมระดับไขมันในเลือด การลดไขมันในช่องท้อง การลดการอักเสบในช่องท้อง  การช่วยลดน้ำหนัก และที่เราพบคือ ลดการดูดซึมไขมัน  ซึ่งคาดว่าหากวิจัยสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหาสุขภาพของคนไทยและต่างชาติได้อีกมาก

ดร.สุภาภรณ์ กล่าวด้วยว่า ยังมีนวัตกรรมสมุนไพรที่ประสบความสำเร็จช่วยเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชนและมีทางเลือกในการเสริมสร้างสุขภาพเป็นการพึ่งพาตนเองได้อีก เช่น มัสคูลสเปรย์กระดูกไก่ดำบรรเทาอาการปวด สมุนไพรตำรับอภัย-บี เสริมความจำ ช่วยให้นอนหลับ, อภัยเมาท์สเปรย์บรรเทาอาการเจ็บคอ เป็นต้น  และเรายังมีการเก็บข้อมูลสมุนไพรทั่วประเทศมาอย่างยาวนานเกือบ 40 ปี  และบันทึกในฐานข้อมูลของเรากว่า 2,000 ชนิด ที่พร้อมรอการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด“
“ขอฝากถึงท่าน รมว.สาธารณสุข ว่า เรื่องการใช้สมุนไพร เป็นเทรนด์ของโลก  เพราะยาแผนปัจจุบันที่ใช้กันยังมีข้อจำกัด  ประกอบกับโรคหรือการเจ็บป่วยของประชากรที่เปลี่ยนไป  การหวังพึ่งยาเพื่อรักษาเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ อาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรคจะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก  การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร นอกเหนือจะเป็นโอกาสทางตลาดแล้วยังจะช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ซึ่งการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผู้ที่มีบทบาทสำคัญก็คือ เภสัชกรสมุนไพรที่มีความเข้าใจทั้งการตั้งตำรับ พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิผล ความปลอดภัย มีคุณภาพสม่ำเสมอ” ดร.สุภาภรณ์ กล่าว 






คำที่เกี่ยวข้อง : #อภัยภูเบศร  









©2018 CK News. All rights reserved.