ชาวไทยเชื้อสายมอญ เมืองลพบุรี "ตักบาตรน้ำผึ้ง" แด่พระภิกษุ ตามตำนานเชื่อการทำบุญได้อานิสงส์มาก เพราะน้ำผึ้งเป็นยาอายุวัฒนะ


29 ก.ย. 2566, 14:46

ชาวไทยเชื้อสายมอญ เมืองลพบุรี "ตักบาตรน้ำผึ้ง" แด่พระภิกษุ ตามตำนานเชื่อการทำบุญได้อานิสงส์มาก เพราะน้ำผึ้งเป็นยาอายุวัฒนะ




เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาที่วัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ซึ่งถือเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายมอญที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดลพบุรี ที่ยังคงมีการสืบสานประเพณีอันเก่าแก่ของชาวมอญเอาไว้ให้ลุกหลานได้สืบทอดกัน โดยทางชาวไทยเชื้อสายมอญจำนวนมากได้แต่งการชุดมอญมาทำบุญในวันพระขึ้น 15ค่ำเดือน 10 ด้วยการนำน้ำผึ้งมาตักบาตรให้กับพระเพื่อสืบสานประเพณีที่ทำสืบทอดกันมานานกว่า100ปี

ซึ่งพระปัญญาวุฒิวุฑฺฒิโก (รุมรามัญ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า มอญเป็นชนชาติหนึ่งที่นับพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด และในวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ชาวมอญก็จะมาทำบุญที่วัดตามปกติ โดยการนำอาหารคาวหวาน ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดและดอกไม้ ธูปเทียน มาที่วัด เพื่อเป็นการทำบุญอุทิศส่วนบุญกุศลให้บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว นอกเหนือจากนั้น ชาวมอญจะนำน้ำผึ้งมาใส่บาตร ชาวมอญบางท้องถิ่นก็มีการนำน้ำตาลมาใส่บาตรในคราวนี้ด้วย
 
ส่วนสาเหตุที่นำน้ำตาลทรายมาใส่บาตรนั้นก็คือ ทางวัดสามารถนำน้ำตาลทรายไปใช้กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ของทางวัดได้บางพื้นที่ก็จะถวายน้ำผึ้งเป็นขวด แต่ตามวิถีโบราณนั้น การตักบาตรน้ำผึ้ง ผู้ที่นำน้ำผึ้งมาตักบาตร ต้องนำน้ำผึ้งมารินใส่ในบาตร เหมือนกับการใส่บาตรอาหารคาวหวานทุกประการแต่เพียงใส่น้ำผึ้งเพียงอย่างเดียว ในการตักบาตรน้ำผึ้งนั้น ชาวมอญเชื่อกันว่า เป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มาก เพราะน้ำผึ้งเป็นยาอายุวัฒนะ พระภิกษุสงฆ์นั้นก็จะนำน้ำผึ้งไปผสมกับยา และปั้นเป็นยาลูกกลอนฉันตอนพระภิกษุสงฆ์อาพาธ นอกจากนี้น้ำผึ้งยังเปรียบเสมือน ยารักษาโรค บำรุงร่างกายให้มีกำลังวังชาด้วยน้ำผึ้งจัดเป็น ๑ ในเภสัชทาน ๕ ชนิด ได้แก่ น้ำผึ้ง เนยใส เนยข้น น้ำมัน และน้ำอ้อยซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นผลดีต่อสุขภาพที่พระสงฆ์พึ่งฉันได้ปัจจุบันอนุโลมน้ำตาลเข้ามาร่วมด้วยถือว่ามาจากน้ำอ้อยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ตามคติความเชื่อของชาวมอญที่ถวายน้ำผึ้งแด่พระสงฆ์นั้น
 
สืบเนื่องมาจากตำนานที่ว่าได้มีพระปัจเจกกะโพธิ์รูปหนึ่งอาพาธประสงค์ที่จะได้นำน้ำผึ้งมาผสมโอสถ เพื่อบำบัดอาการอาพาธนั้น วันหนึ่งได้ไปบิณฑบาตในชนบทที่ใกล้กับชายป่ามีชาวบ้านป่าคนหนึ่งเกิดกุศลจิตหวังจะถวายทานแด่พระปัจเจกกะโพธิ์ จึงนำน้ำผึ้งที่ตนได้เก็บไว้มาถวาย ด้วยจิตศรัทธาที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้นและสูงส่ง ครั้นรินน้ำผึ้งลงไปในบาตร เกิดปรากฏการณ์อย่างอัศจรรย์ น้ำผึ้งเกิดเพิ่มพูนขึ้นจนเต็มบาตร และล้นบาตรในที่สุด ในขณะนั้นเองมีชาวบ้านผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้หญิงกำลังทอผ้าอยู่ เห็นความอัศจรรย์นั้น ด้วยจิตศรัทธาเกรงว่าน้ำผึ้งจะเปื้อนมือพระปัจเจกกะโพธิ์ จึงนำผ้าที่ทอเสร็จแล้วนำถวาย เพื่อใช้ซับน้ำผึ้งที่ล้นออกมาจากบาตร อานิสงส์ดังกล่าว ส่งผลให้ชายหนุ่ม เกิดในภพใหม่เป็นพระราชาที่เข้มแข็งมั่งคั่ง ส่วนหญิงสาวไปเกิดเป็นพระธิดาของกษัตริย์อีกเมืองหนึ่ง ที่มีความเข้มแข็งและมั่งคั่ง จากพุทธประวัติดังกล่าวจึงเกิดประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งขึ้น รวมทั้งเกิดการถวายผ้ารองบาตรน้ำผึ้งด้วย ซึ่งบรรดาหญิงสาวจะช่วยกันปักผ้าอย่างสวยงาม ประณีต เพื่อถวายพระควบคู่กับการตักบาตรน้ำผึ้ง


อานิสงส์ในการถวายน้ำผึ้งนี้ มีตำนานที่เกี่ยวกับ พระฉิมพลี หรือ พระสิวลี อีกทางหนึ่งที่ว่าในอดีตกาลครั้งที่สมัยพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระวิปัสสี พระสิวลีได้ถือกำเนิดเป็นชาวบ้านนอกในชนบท วันหนึ่งได้ไปในเมืองระหว่างทางกลางป่านั้น ได้พบรวงผึ้งจึงได้ไล่ตัวผึ้งให้หนีไปแล้วตัดกิ่งไม้ถือรวงผึ้งเข้าไปในเมือง


นอกจากนี้หลังร่วมกันตักบาตรน้ำผึ้งแล้วทุกคนก็จะได้นำน้ำผึ้งถวายพระสงฆ์ โดยไม่ต้องประเคนน้ำผึ้งให้กับพระ เพราะหากนำน้ำผึ้งประเคนพระพระจะต้องฉันท์ให้หมด แต่หากไม่ประเคนพระสามารถเก็บไว้ทำยาได้ ก่อนที่จะร่วมกันแห่ธงตะขาบรอบหลวงพ่อใหญ่เพื่อนำธงตะขาบขึ้นสู่ยอดเสาหงษ์





คำที่เกี่ยวข้อง : #ตักบาตรน้ำผึ้ง  









©2018 CK News. All rights reserved.