เลขาธิการ สทนช. ห่วงแล้งภาคกลาง เร่งติดตามพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ กำชับจัดการน้ำอย่างสมดุล-รับมือเอลนีโญ


31 ก.ค. 2566, 16:43

เลขาธิการ สทนช. ห่วงแล้งภาคกลาง เร่งติดตามพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ กำชับจัดการน้ำอย่างสมดุล-รับมือเอลนีโญ




 วันที่ 31 กรกฎาคม 2566  ที่สำนักงานชลประทานที่ 10 ลพบุรี  ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จังหวัดลพบุรี โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน รายงานสรุปสถานการณ์น้ำและการเพาะปลูกพืช มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และแนวทางการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ

จากนั้นลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำระบบส่งน้ำคลองชัยนาท-ป่าสักฯ และแนวทางการบริหารจัดการน้ำของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาลพบุรี เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ฝน ONE MAP พบว่า ปริมาณฝนสะสมในภาพรวมของประเทศตั้งแต่ช่วงต้นปีจนถึงปัจจุบัน ยังคงต่ำกว่าค่าปกติ รวมถึงปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนของปีนี้ก็ยังคงต่ำกว่าค่าปกติเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางที่คาดว่าจะประสบปัญหาฝนตกน้อยและเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เนื่องจากสภาวะเอลนีโญที่ยังคงส่งผลกระทบอยู่ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศรวมกันอยู่ที่ 36,330 ล้าน ลบ.ม. (51%) โดยในพื้นที่ภาคกลางมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 189 ล้าน ลบ.ม. (15%) นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา และ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ( สสน. )คาดการณ์ว่า ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ยังมีโอกาสที่จะมีพายุเข้าสู่ประเทศไทยได้ 1-2 ลูก ซึ่งจะเป็นผลดีต่ออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยที่จะเร่งกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า

ซึ่งได้กำชับให้กรมชลประทานและการประปาส่วนภูมิภาค เคร่งครัดการบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลในทุกภาคส่วน วิเคราะห์และวางแผนอย่างรัดกุมให้มีความสอดคล้องกับความผันแปรของสภาพภูมิอากาศ เพื่อรองรับผลกระทบของเอลนีโญที่คาดจะไปถึงปี 2567 โดยต้องให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ และน้ำเพื่อการเพาะปลูกสำหรับพืชไม้ผลยืนต้นเป็นหลัก พร้อมวางแผนการจัดสรรน้ำให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ เพื่อเตรียมรับมือภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นด้วย และยังกำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ควบคู่ต่อเนื่องไปด้วย ทั้งการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรเครื่องมือ เร่งซ่อมแซมบำรุงรักษาอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำและโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน เร่งกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำต่าง  ๆ รวมถึงการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุและซักซ้อมการตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ซึ่ง จังหวัดลพบุรี จะมีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ภาคกลาง ระหว่างวันที่ 3-4 ส.ค.2566 นี้ ณ โรงแรม โอทู ลพบุรี เพื่อเตรียมรับมือทั้งสถานการณ์อุทกภัยและภัยแล้งต่อไป





คำที่เกี่ยวข้อง : #สทนช.   #ภัยแล้ง  









©2018 CK News. All rights reserved.