"สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์" เผยความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับ กรรมนิยาม และสมมตินิยาม


17 ก.ค. 2566, 16:06

"สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์" เผยความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับ กรรมนิยาม และสมมตินิยาม





สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้สรุปเรื่องกรรมไว้ในหนังสือพุทธธรรมว่ามีอยู่ ๒ กรรมคือ กรรมนิยาม และสมมตินิยาม กรรมนิยาม ปรากฏอยู่ใน ธรรมนิยาม ๕ หรือกฎธรรมชาติ ๕ ประการ ซึ่งประกอบด้วย อุตุนิยาม พีชนิยาม  จิตนิยาม กรรมนิยาม ธรรมนิยาม
    นิยาม แปลว่า กำหนดอันแน่นอน ทำนองหรือแนวทางที่แน่นอน หรือความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอน เพราะปรากฏให้เห็นว่า เมื่อมีเหตุปัจจัยอย่างนั้นๆ แล้ว ก็จะมีความเป็นไปอย่างนั้นๆ แน่นอน ดังพุทธพจน์ที่คุ้นกันดีว่า “กมฺมุนา วตฺตตี โลโก แปลว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม”

กรรมในฐานะกฎธรรมชาติอย่างหนึ่ง
    กรรมนิยาม หมายถึง กฎแห่งกรรม เป็นกฎธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของคน ส่วนสมมตินิยาม หรือกฎของสังคม เป็นกฎของคนซึ่งคนบัญญัติกันขึ้นเอง มีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎธรรมชาติเพียงในแง่ว่า เป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดจากการกระทำ คือกรรม หรือการปรุงแต่งสร้างสรรค์เจตจำนงของคน และอีกแง่หนึ่ง โดยกฎแห่งกรรม(กรรมนิยาม) มนุษย์รับผิดชอบต่อการกระทำของตนตามกระบวนการของธรรมชาติ แต่โดยกฎของสังคม(สมมตินิยาม) มนุษย์รับผิดชอบต่อการกระทำของตน ตามกระบวนการที่บัญญัติจัดวางขึ้นเองของมนุษย์

ความหมายของกรรม
    “กรรม” แปลตามศัพท์ ว่า การงาน หรือการกระทำ แต่ในทางธรรมต้องจำกัดความจำเพาะลงไปว่า หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา หรือการกระทำที่เป็นไปด้วยความจงใจ ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่มีเจตนา ก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรมในความหมายทางธรรม 
    โดยสรุปแล้ว สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้เน้นย้ำว่าจะต้องถือเอาความหมายในแง่ของเจตนาเป็นแกนยืนเสมอไป เพราะเจตนาเป็นตัวการที่นำมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลาย และกำหนดแนวทางว่าจะเกี่ยวข้องแบบไหน อย่างไร จะเลือกรับอะไร หรือไม่ จะมีปฎิกิริยาต่อสิ่งเหล่านั้นอย่างไร จะปรุงแปร ดัดแปลงแต่งเสริมโลกอย่างไร จะทำตัวเป็นช่องทางแสดงออกของอกุศลกรรมในรูปของตัณหา หรือในรูปของโลภะ โทสะ และโมหะ หรือจะนำหน้าพากุศลธรรมออกปฏิบัติงานส่งเสริมประโยชน์สุข ทั้งหมดนั้นย่อมเป็นอำนาจอิสระของเจตนาที่จะทำ 
    ดังพุทธพจน์ที่ปรากฏในอัฏฐสาลินีอรรถกถาว่า 
“เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ เจตยิตฺวา กมฺมํ กโรติ กาเยน วาจาย มนสา”
ภิกษุทั้งหลาย เรา(ตถาคต)กล่าวว่า เจตนานั่นแหละเป็นกรรม 
เมื่อมี เจตนาแล้ว บุคคลย่อมทำกรรมโดย ทางกาย ทางวาจา และทางใจ

ประเภทของกรรม
    กรรมนั้น เมื่อจำแนกตามคุณภาพ หรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุ แบ่งได้เป็น ๒ อย่างคือ
๑.อกุศลกรรม กรรมที่เป็นอกุศล การกระทำที่ไม่ดี กรรมชั่ว หมายถึง การกระทำที่เกิดจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ หรือโมหะ 
๒.กุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล การกระทำที่ดี หรือกรรมดี หมายถึง การกระทำที่เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ หรือ อโมหะ 
    แต่ถ้าจำแนกตามทวาร คือทางที่ทำกรรม หรือทางแสดงออกของกรรม จัดเป็น ๓ คือ
๑.กายกรรม กรรมทำด้วยกาย หรือการกระทำทางกาย
๒.วจีกรรม กรรมทำด้วยวาจา หรือการกระทำทางวาจา
๓.มโนกรรม กรรมทำด้วยใจ หรือการกระทำทางใจ

เกณฑ์การตัดสิน ความดี-ความชั่ว
    ปัญหาเกี่ยวกับความดี-ความชั่ว กรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความดีและความชั่วโดยตรง เมื่อพูดถึงกรรม จึงควรพูดถึงเรื่องความดีและความชั่วไว้ด้วย เพื่อช่วยให้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมชัดเจนยิ่งขึ้น 
    เรื่องความดีและความชั่ว มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับความหมายและหลักเกณฑ์ที่จะวินิจฉัย เช่นว่า อะไร และอย่างไร จึงเรียกว่าดี อะไร และอย่างไร จึงเรียกว่าชั่ว 
    อย่างไรก็ตามปัญหาเช่นนี้มีมากเฉพาะในภาษาไทยเท่านั้น ส่วนในทางธรรมที่ใช้คำบัญญัติจากภาษาบาลี ความหมายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้นับได้ว่าชัดเจน 
    โดยสรุป สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต)  ความดีความชั่ว  ณ ที่นี้ เป็นการศึกษาในแง่ของกรรมนิยาม และมีคำเรียกโดยเฉพาะว่า “กุศล”และ “อกุศล” เพราะเป็นคำที่มีความหมายและหลักเกณฑ์วินิจฉัยที่นับได้ว่าชัดเจน

กุศลกรรม
    “กุศล” แปลตามศัพท์ว่า ฉลาด ชำนาญ สบาย เอื้อ หรือเกื้อกูล เหมาะ ดีงาม เป็นบุญ คล่องแคล่ว ตัดโรค หรือตัดสิ่งที่ชั่วร้ายที่น่ารังเกียจ
    ความหมายเชิงอธิบายในทางธรรมของกุศล ที่ถือได้ว่าเป็นหลัก มี ๔ อย่าง คือ
๑.อาโรคยะ ความไม่มีโรค คือสภาพจิตที่ไม่มีโรค อย่างที่นิยมเรียกกันบัดนี้ว่า สุขภาพจิต หมายถึง สภาวะหรือองค์ประกอบที่เกื้อกูลแก่สุขภาพจิต ทำให้จิตไม่ป่วยไข้ ไม่ถูกบีบคั้น ไม่กระสับกระส่าย ไม่โทรม ไม่อ่อนแอ เป็นจิตแข็งแรง คล่องแล่ว สบาย ใช้งานได้ดี เป็นต้น
๒.อนวัชชะ ไม่มีโทษ หรือไร้ตำหนิ แสดงถึงภาวะที่จิตสมบูรณ์ ไม่บกพร่อง ไม่เสียหาย หรือไม่มีของเสีย ไม่มัวหมอง ไม่ขุ่นมัว สะอาด เกลี้ยงเกลา เอี่ยมอ่อง ผ่องแผ้ว เป็นต้น
๓.โกศลสัมภูต เกิดจากปัญญา หรือเกิดจากความฉลาด หมายถึง ภาวะที่จิตประกอบอยู่ด้วยปัญญาหรือมีคุณสมบัติต่างๆ ซึ่งเกิดจากความรู้ความเข้าใจ สว่าง มองเห็น หรือรู้เท่าทันความเป็นจริงสอดคล้องกับหลักที่ว่า กุศลธรรมมีโยนิโสมนสิการ คือความรู้จักคิดแยบคายหรือรู้จักทำใจอย่างฉลาด เป็นปทัฎฐาน
๔.สุขวิบาก มีสุขเป็นวิบาก คือเป็นสภาพที่ทำให้มีความสุข เมื่อกุศลธรรมเกิดขึ้นในใจ ย่อมเกิดความสุขสบายคล่องใจในทันทีนั้นเอง ไม่ต้องรอว่าจะมีผลตอบแทนภายนอกหรือไม่ เหมือนกับว่า เมื่อร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคเบียดเบียน (อโรค) ไม่มีสิ่งสกปรกเสียหาย ปราศาจากมลทินหรือของที่เป็นพิษภัยมาพ้องพาน(อนวัชชะ) และรู้ตัวว่าอยู่ในที่มั่นคงปลอดภัยถูกต้องเหมาะสม(โกศลสัมภูต) ถึงจะไม่ได้เสพเสวยสิ่งใดพิเศษออกไป ก็ย่อมมีความสบาย ได้เสวยความสุขอยู่แล้วในตัว

อกุศลกรรม
    “อกุศล” แปลว่า สภาวะที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล หรือตรงข้ามกับกุศล เช่นว่า ไม่ฉลาด ไม่สบาย เป็นต้น โดยความหมายพึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามจากที่กล่าวมานี้ คือ เป็นสภาพจิตที่มีโรค ไร้สุขภาพ มีโทษ มีตำหนิ มีข้อเสียหาย เกิดจากอวิชชา และมีทุกข์เป็นวิบาก
การให้ผลของกรรม
    ปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องกรรม ก็คือการให้ผลของกรรม โดยสงสัยเกี่ยวกับหลัก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ บางคนพยายามนำหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง คนที่ทำชั่วได้ดี และคนที่ทำดีได้ชั่ว มีมากมาย
    ความจริง ปัญหาเช่นนี้เกิดจากความเข้าใจสับสนระหว่างกรรมนิยามกับสมมตินิยาม โดยนำเอาความเป็นไปในนิยามทั้งสองนี้มาปนเปกัน ไม่รู้จักแยกขอบเขตและขั้นตอนให้ถูกต้อง ดังจะเห็นว่า แม้แต่ความหมายของถ้อยคำในหลัก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นั้นเอง คนก็เริ่มต้นเข้าใจสับสน แทนที่จะเข้าใจความหมายของ “ทำดี ได้ดี” ว่าเท่ากับ ทำความดี ได้ความดี หรือทำความดี ก็มีความดีหรือ หรือทำความดี ก็เป็นเหตุให้ความดีเกิดมีขึ้น หรือทำความดี ผลดีตามกรรมนิยามก็เกิดขึ้น กลับเข้าใจเป็นว่า ทำความดี ได้ของดี หรือทำดีแล้ว ได้ผลประโยชน์ หรือได้อามิสที่ตนชอบใจ เมื่อปัญหามีอยู่เช่นนี้ จึงควรศึกษากันให้ชัดเจน
    เพื่อความแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต) จึงให้พิจารณาการให้ผลของกรรมโดยแบ่งเป็น ๔ ระดับ ดังคือ
๑.ระดับภายใยจิตใจ ว่ากรรมทำให้เกิดผลภายในจิตใจ มีการสั่งสมคุณสมบัติ คือกุศลธรรมและอุกศลธรรม คุณภาพและสมรรถภาพของจิต มีอิทธิพลปรุงแต่งความรู้สึกนึกคิด ความโน้มเอียง ความนิยมชมชอบ และความสุขความทุกข์ เป็นต้นอย่างไรบ้าง
๒.ระดับบุคลิกภาพ ว่ากรรมทำให้เกิดผลในด้านการเสริมสร้างนิสัย ปรุงแต่งลักษณะความประพฤติการแสดงออก ท่าที การวางตนปรับตัว อาการตอบสนอง ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และต่อสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไปอย่างไรบ้าง 
๓.ระดับวิถีชีวิตของบุคคล ว่ากรรมชักนำความเป็นไปในชีวิตของบุคคล ทำให้เขาได้รับประสบการณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ประสบผลตอบสนองจากภายนอก พบความเสื่อมความเจริญ ความล้มเหลว ความสำเร็จ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ และความสูญเสียต่างๆ ที่ตรงข้าม ซึ่งรวมเรียกว่าโลกธรรมทั้งหลาย อย่างไรบ้าง
๔.ระดับสังคม ว่ากรรมที่บุคคลและคนทั้งหลายกระทำ มีผลต่อความเป็นไปของสังคมอย่างไรบ้าง เช่น ทำให้เกิดความเสื่อม ความเจริญ ความร่มเย็นเป็นสุข ความทุกข์ยากเดือดร้อนร่วมกันของมนุษย์ทั้งหลาย รวมทั้งผลจากการที่มนุษย์กระทำต่อสภาพแวดล้อมอื่นๆ แล้วย้อนกลับมาหาตัวมนุษย์เอง 
ยาทิสํ วปเต พีชํ     ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ     ปาปการี จ ปาปกํ
หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น (ผู้) ทำดี ได้ดี (ผู้) ทำชั่ว ได้ชั่ว

    ข้อควรศึกษายิ่งขึ้นไป เพื่อความเข้าใจหลักกรรมให้ชัดเจน (พุทธธรรม)
๑.สุขทุกข์ ใครทำให้ ?
๒.เชื่ออย่างไรผิดหลักกรรม ?
๓.กรรม ชำระล้างได้อย่างไร ?
๔.แก้กรรม ด้วยปฎิกรรม
๕.กรรม ที่ทำให้สิ้นกรรม
๖.กรรม ในระดับสังคม หรือกรรของสังคม มีหรือไม่ ?
๗.กรรม ตามสมมตินิยาม หรือกรรม ในกฎมนุษย์
๘.กรรมกับอนัตตา ขัดกันหรือไม่ ?
 





คำที่เกี่ยวข้อง : #สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์  









©2018 CK News. All rights reserved.