ศาลฎีกา จำคุก ธาริต เพ็งดิษฐ์ 2 ปีไม่รอลงอาญา คุมตัวเข้าเรือนจำ อีก3ยกฟ้อง


10 ก.ค. 2566, 22:00

ศาลฎีกา จำคุก ธาริต เพ็งดิษฐ์ 2 ปีไม่รอลงอาญา คุมตัวเข้าเรือนจำ อีก3ยกฟ้อง




วันที่ 10 ก.ค.2566 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 10 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4

ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง กรณีนายธาริตกับพวกแจ้งข้อหาดำเนินคดีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ในการสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

คดี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษพวกจำเลยด้วย

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกจำเลยคนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา
จำเลยทั้งสี่ยื่นฎีกา ต่อมาวันที่ 24 มี.ค.66 นายธาริต ได้ถอนคำให้การเดิมจากที่ให้การปฏิเสธ เป็นรับสารภาพ ไม่ต่อสู้คดี

โดยเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายธาริต ไม่ได้มาศาลเพื่อฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกาตามนัด มีเพียงทนายความมาแสดงใบรับรองแพทย์จาก รพ.พญาไท 2 ว่า นายธาริต มีอาการป่วยบ้านหมุน ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ จึงขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปก่อน

ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นควรส่งใบรับรองแพทย์ ของนายธาริต ให้ศาลฎีกาพิจารณา
โดยในวันเดียวกัน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ใบรับรองแพทย์แต่ละครั้งของนายธาริต จำเลยที่ 1 มีลายเซ็นแพทย์ผู้ตรวจ ไม่เหมือนกัน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า

ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้ศาลอาญาดำเนินการไต่สวนแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์ และการรักษาอาการป่วยของนายธาริตว่ามีอาการเจ็บป่วยจนไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ตามกำหนดนัดว่า ข้อเท็จจริงถูกต้องหรือไม่ เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่ผ่านมา แล้วส่งผลการไต่สวนให้ศาลฎีกาพิจารณา และเลื่อนนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 10 ก.ค.นี้เวลา 09.00 น.

ในวันนี้ นายธาริต เดินทางมาศาลอาญาโดยถึงเวลา 08.50 น.พร้อมทำเอกสารเเจกสื่อมวลชนที่รอทำข่าวอยู่หน้าศาลอาญา ความว่า

คำพิพากษาของศาลฎีกาที่ศาลอาญาได้นัดอ่านในเช้าวันนี้ จะมีผลสำคัญอย่างใหญ่หลวงมาก ดังที่ข้าพเจ้าได้แถลงข่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2566 เพราะหากจะพิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้วจะมีผลสำคัญตามมาหลายประการ กระทบต่อความเป็นธรรมของผู้ตาย 99 ศพ ผู้บาดเจ็บ 2,000 กว่าคน

ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงจำเป็นต้องใช้สิทธิตามกฎหมายในการแสวงหาความยุติธรรมให้กับ 99 ศพ และตัวข้าพเจ้าเองกับพนักงานสอบสวนที่ถูกฟ้องอย่างถึงที่สุด

เมื่อเวลา 08.30 น. ของวันนี้ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาโต้แย้งคำคัดค้านองค์คณะและผู้เกี่ยวข้อง โดยขอให้ศาลอาญาส่งคำร้องนี้ไปยังศาลฎีกา เพื่อให้มีกระบวนการโดยรวมถึงประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน นำเอาการพิจารณาทำคำพิพากษาคดีนี้เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา และไม่ว่าผลของคำพิพากษาศาลฎีกาที่จะได้พิพากษาโดยที่ประชุมใหญ่จะออกมาเป็นอย่างใด ข้าพเจ้าพร้อมจะยอมรับว่าได้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ตาย 99 ศพ และบาดเจ็บ 2,000 คน รวมถึงนายอภิสิทธิ์ ฯ นายสุเทพ ฯ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และข้าพเจ้าอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ข้าพเจ้าได้ยื่นคำร้องอีก 1 ฉบับ ขอให้บรรดาคำร้องที่สำคัญที่ได้มีการยื่นไว้ในคดีนี้คือคำร้องของญาติผู้ตายขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 และคำร้องที่ข้าพเจ้าขอให้ศาลฎีกาส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า มาตรา 157 และมาตรา 200 แห่ง ป.อาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับลงโทษในคดีนี้ไม่ได้นั้น โดยข้าพเจ้าร้องขอให้ผู้ที่จะมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและสั่งคำร้องทุกฉบับคือที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาเช่นกัน

การยื่นคำร้องคัดค้านโต้แย้งองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตประธานศาลฎีกา และผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวมานี้เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 3818/2533 วางบรรทัดฐานรับรองและคุ้มครองสิทธิให้กระทำได้ และไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล

ข้าพเจ้าเชื่อมั่นในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมขององค์กรศาลยุติธรรมในภาพรวมและเชื่อว่าศาลอาญาจะได้ส่งคำร้องขอทั้ง 2 เรื่องดังกล่าวที่ข้าพเจ้าได้ยื่นในเช้านี้ไปยังศาลฎีกาและทางศาลฎีกาจะได้มีกระบวนการพิจารณาคำร้องขอของข้าพเจ้าอย่างเป็นธรรม โดยท่านประธานศาลฎีกาท่านปัจจุบันจะได้เห็นชอบให้ การทำคำพิพากษาและการพิจารณาสั่งคำร้องทุกเรื่องได้เข้าสู่การพิจารณาและจัดทำโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต่อไป

นายธาริต กล่าวอีกว่า ส่วนที่นายราเมศ รัตนเชวง และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ออกมาดิสเครดิตตนว่าดำเนินคดีกับ นปช.ว่าผิด แล้วจะดำเนินคดีกับอภิสิทธิ์และสุเทพได้อย่างไรนั้น เรื่องนี้ได้ชี้แจงแล้วว่า คดีนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน กรณีของ นปช.ที่เข้าไปในเรดโซนมีความผิดก็ถูกดำเนินคดี ส่วนคนที่ใช้อำนาจ ศอฉ. สั่งให้เอาอาวุธไปยิงประชาชนในเรดโซนก็ต้องถูกดำเนินคดีเช่นกัน

นายราเมศและนิพิฎฐ์ เป็นนักกฎหมายคนสำคัญของพรรค มาพูดแบบนี้ถือว่า ไม่เคารพการตาย 99 ศพและบาดเจ็บ 2 พันคน ส่วนที่ศาลยกฟ้องอภิสิทธิ์และสุเทพทั้ง 3 ศาล ก็ไม่ได้บอกว่าทั้ง 2 คนไม่ผิดในการสั่งยิง แต่บอกว่าให้ย้อนกลับไปไต่สวนสอบสวนที่ ป.ป.ช.ก่อนมาฟ้องศาลใหม่ ตรงนี้สำคัญมาก ไม่เคยมีศาลใดพิสูจน์เลยว่า การสั่งทหารใช้กำลังยิงประชาชนถูกต้อง

จากนั้น นายธาริต จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง ขอให้ศาลฎีกาส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัย ว่า มาตรา 200,157 ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอถอนคำให้การเดิมที่รับสารภาพ เป็นปฎิเสธข้อกล่าวหา ศาลจึงส่งคำร้องทั้งหมดรวมถึงคำร้องในวันนี้ ให้ศาลฎีกามีคำวินิจฉัย และนัดฟังคำสั่งในวันนี้ เวลา 14.30 น.

ล่าสุด ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนายธาริต 2 ปี ไม่รอลงอาญา คุมตัวเข้าเรือนจำทันที ส่วนจำเลยที่ 2-4 ศาลยกประโยชน์เเห่งความสงสัยพิพากษาเเก้ยกฟ้อง





คำที่เกี่ยวข้อง : #ธาริต เพ็งดิษฐ์  









©2018 CK News. All rights reserved.